Home
|
ข่าว

“นิกร” ประชามติยึดร่างครม.ปรับยึดเสียงข้างมากชั้นเดียว

Featured Image

 

 

 

 

“นิกร”ประชามติยึดร่างครม.ปรับยึดเสียงข้างมากชั้นเดียว พร้อมเปิดรับฟังความเห็นปชช. 3 พ.ค. รับกาบัตรต้องเลื่อนอย่างน้อย 5 เดือน “ไอติม” อัด คนรบ.ต้องสื่อสารให้ชัดเจน จี้เร่งเปิดวิสามัญแก้กฎหมาย ไม่ต้องรอร่างครม.

 

 

 

 

 

การประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติพ.ศ. 2564 มีนายนิกร จำนง กรรมการและโฆษก นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นายแสวง บุญมี เลขาฯกกต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

 

โดยเวลา10.30น. นายนิกร ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ต้องเชิญนายชูศักดิ์ และนายพริษฐ์ มาร่วมประชุมเพราะทั้งคู่เป็นผู้ริเริ่มการแก้ไขกฎหมายประชามาติในส่วนของสภาฯ จึงต้องการรับฟังความคิดเห็น โดยผลการหารือคณะกรรมการพิจารณาแนวทางประชามติ ได้ยกร่างแก้ไขกฎหมายประชามติ โดยนำจุดแข็งของแต่ละร่างมารวมกันเพื่อให้ได้กฎหมายประชามติที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญแต่ทำประชามติได้ทุกเรื่อง

 

โดยจะเสนอในนามของคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญอาทิ การออกเสียงประชามติสามารถนำไปรวมกับการเลือกตั้งอื่นได้เพื่อประหยัดงบประมาณ และเวลาของประชาชนที่ต้องมาออกเสียง สามารถออกบัตรเลือกตั้งอื่นได้เช่นการลงคะแนนผ่านไปรษณีย์และการลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชั่น และประเด็นสำคัญให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ

 

โดยคะแนนเสียงข้างมากต้องมีเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มาออกเสียง ไม่ใช่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แทนของเดิมที่ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น โดยวันที่ 3 พ.ค. คาดว่าร่างดังกล่าวจะสามารถเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนได้ผ่านเว็บไซต์ สปน. ไม่น้อยกว่า 15 วัน แล้วจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบได้ต่อไป โดยความตั้งใจจะเสนอร่างดังกล่าวได้ทันการเปิดสภาฯสมัยวิสามัญ หลังการพิจารณาร่างงบประมาณปี 68 เมื่อสภาฯเปิดสมัยสามัญ เดือนก.ค. ก็จะได้พิจารณาวาระต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีสว.ชุดใหม่เข้ามาแล้ว

 

หลังจากที่เคยระบุปลายเดือน ก.ค.ต้นเดือน ส.ค. ประชาชนจะได้ออกเสียง นายนิกร กล่าวว่าเราเห็นปัญหาว่าหากทำประชามติโดยยังไม่แก้กฎหมายประชามติ โดยใช้งบประมาณไป 3,500 ล้านบาท คนมาใช้สิทธิไม่ครบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั่วประเทศหรือ 26 ล้านคนจะทำให้งบประมาณเสียไปเปล่าๆ

 

โดยหลังจากนี้จะได้เข้าคูหาเมื่อใดนั้นต้องรอให้กฎหมายประชามติฉบับใหม่เสร็จสิ้นก่อน แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปคุยรายละเอียดอีกทีทั้งเรื่องงบประมาณ การกำหนดวัน ถ้าถามเวลาตอนนี้ตนยังตอบไม่ได้ แต่คาดว่าจะทำได้ภายใน5 เดือนหลังกฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้ และตนอยากให้การทำประชามติครั้งที่ 2 ไปตรงกับการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ช่วงต้นเดือนก.พ.68 และขอยืนยันการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำเสร็จในกรอบเวลา 4 ปี ของรัฐบาลนี้

 

ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า เราพบว่าอาจมีตัวแทนรัฐบาลที่สื่อสารผิดพลาดเกี่ยวกับการกำหนดวันทำประชามติครั้งแรกที่ระบุว่าจะมีขึ้นปลายเดือน ก.ค.ถึงเดือน ส.ค. ซึ่งเป็นตามตีความว่าเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เดินหน้าการทำประชามติตามที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางฯเสนอเมื่อวันที่ 23 เม.ย. แต่เราค้นพบวันนี้ว่ามติคณะรัฐมนตรียังไม่ให้นับหนึ่ง แต่จะนับหนึ่งก็ต่อเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายประชามติเสร็จแล้ว

 

ตนจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลสื่อสารเกี่ยวกับการกำหนดวันทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน และในวันนี้ตนและนายชูศักดิ์ มีความเห็นร่วมกันให้คณะรัฐมนตรีเสนอเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญโดยเร็วที่สุด เพราะตอนนี้มีร่างแก้ไขกฎหมายประชามติของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เสนอเข้าสู่สภาฯแล้ว หากร่างคณะรัฐมนตรีประกบทันก็ถือว่าดีไปหากไม่ทันก็มีสองร่างดังกล่าวให้พิจารณาได้ แล้วให้รัฐบาลเสนอเนื้อหาเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการในภายหลัง

 

อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลมีข้อกังวลเกี่ยวกับคำถามในการทำประชามติ อยากให้การตั้งคำถามเป็นการถามที่เปิดกว้างว่าประชาชนเห็นชอบหรือไม่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะมองว่าหากถามแบบกว้างโอกาสผ่านจะมีมากกว่า และหากประชามติผ่านไปแล้ว รัฐบาลยังสามารถรักษาจุดยืนของตัวเองที่จะไม่แตะหมวดหนึ่งหมวดสองได้ในการเสอนแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เกี่ยวกับการกำหนดกรอบการทำงานของ สสร. ถือว่าข้อเสนอนี้เป็นการเสนอด้วยความปราถนาดีที่อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สำเร็จ

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube