“พิธา” บอกต้องเร่งเยียวยา ปชช.ได้รับผลกระทบไฟไหม้สารเคมี
“พิธา” ลงพื้นที่ระยอง คุยประชาชนได้รับผลกระทบไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมี ชี้เป็นปัญหาระดับชาติ ต้องเร่งเยียวยา
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส.ระยอง จากพรรคก้าวไกลทั้ง 5 เขต ร่วมลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีวินโพรเสส และเปิดเวทีประชาคมรับฟังปัญหาจากประชาชน และข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากองค์กรภาคประชาสังคม ในวันที่ 5 พค. 2567
โดยนายพิธาและ สส.พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่สำรวจส่วนหน้าของโรงงานวินโพรเสส ก่อนจะเดินทางไปยังสวนเกษตรที่อยู่ติดกับโรงงาน และโรงเรียนหนองพะวา เพื่อรับฟังรายละเอียดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรงงานแห่งนี้ ทั้งจากการลักลอบขนย้าย กักเก็บ และปลดปล่อยสารเคมีสู่พื้นที่รอบข้างมาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี จนทำให้แหล่งน้ำและพื้นที่สวนของประชาชนเต็มไปด้วยการปนเปื้อนสารเคมี รวมถึงเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อวันที่ 22 เมษายน ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักขึ้น
นายพิธา กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่กระทบกับพี่น้องประชาชนภาคตะวันออกมาโดยตลอด ซึ่งวันนี้ตนได้ลงพื้นที่โรงงานที่ไฟไหม้ ได้ไปสวนยางของประชาชนที่อยู่รอบ ๆ และได้ไปเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน ได้เห็นภาพจริง ๆ ว่ากลิ่นที่ต้องสูด น้ำที่ต้องดื่ม ผิวหนังที่คันเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นที่ระยองไม่ใช่กรณีเดียวในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาระดับชาติที่เกิดขึ้นทุกที่ที่มีการจัดการขยะอุตสาหกรรม ผลกระทบในเรื่องนี้หนักขึ้นตั้งแต่มีการรัฐประหารและการออกคำสั่ง คสช.ให้โรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมทำได้ในทุกผังเมือง ทั้งที่ไม่ควรมีโรงงานแบบนี้อยู่ใกล้สวนยางและโรงเรียน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอย่างหนักหน่วงจะเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่อง “ดิน น้ำ ลม ไฟ” โดยเฉพาะหน้าในช่วงนี้คือเรื่องไฟกับน้ำ ขณะนี้เองไฟก็ยังไม่สามารถดับได้หมด แต่ก็มีอีกปัญหาเกิดขึ้นแล้วคือเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคที่ปนเปื้อน และหากเข้าสู่ฤดูฝนแล้วมีฝนตกหนักใส่บ่อสารเคมี เกิดการระบายน้ำที่ปนเปื้อนออกสู่ภายนอกก็จะเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง ต้องโฟกัสเรื่องไฟและน้ำเป็นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้า ต้องเร่งเยียวยาผลกระทบและสุขภาพประชาชน
นายพิธา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดในตอนนี้คือเรื่องการขนย้าย ซึ่งต้องการให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด โดยจากที่ได้ลงพื้นที่และศึกษาข้อมูลมา ตนเห็นว่าสามารถขนย้ายให้เร็วที่สุดภายใน 90 วันได้ แต่ก็ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาเรี่ยราดหนักกว่าเดิม ถ้าขนแบบชุ่ยก็จะยิ่งฟุ้ง ยิ่งเลอะ ประชาชนจะเดือดร้อนมากกว่าเดิม โจทย์สำคัญในเวลานี้จึงเป็นเรื่องของการขนย้ายให้ได้เร็วที่สุดและมีคุณภาพ รวมถึงต้องคิดด้วยว่าจะขนไปที่ไหนที่จะไม่กระทบคนอื่น ต้องใช้งบประมาณเท่าไร ใช้จากงบกลางได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้
“เหลืออยู่อย่างเดียวคือเจตจำนงทางการเมืองว่าอยากช่วยประชาชนจริงหรือไม่ จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสให้มีความเข้าใจกระบวนการมากขึ้นได้อย่างไร ประเด็นสำคัญคือการทำบัญชีสารเคมี แยกออกมาให้ได้ว่ามีสารที่เป็นวัตถุติดไฟหรือไม่ อันตรายกับไม่อันตราย มีปฏิกิริยากับไม่มีปฏิกิริยา มีหลายรูปแบบ ถ้าวางแผนอย่างเป็นระบบก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด”
นายพิธา กล่าวอีกว่า จากการทำงานเป็นผู้แทนราษฎรมา 5 ปี ตนพบว่าทุกจังหวัดมีปัญหาเช่นนี้กันหมด ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ในระยะยาวว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ทั่วประเทศไทยมีโรงงานกว่า 75,000 แห่ง กว่า 6,000 แห่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อีก 60,000 กว่าแห่งกระจายอยู่ทั่วไป ประเทศไทยผลิตกากขยะอุตสาหกรรมเฉลี่ยปีละ 40 ล้านตัน โดย 37 ล้านตันเป็นแบบไม่อันตราย อีก 3 ล้านตันเป็นขยะอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งแยกออกมาออกมาได้อีก 4-5 ประเภท และต้องใช้วิธีบริหารจัดการที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ประเทศจะต้องมีผู้บริหารที่เข้าใจเรื่องนี้
สุดท้าย สิ่งที่เราต้องนำไปคิดและแก้ไขคือ ขยะอุตสาหกรรมมีต้นทุนในการกำจัดต่ำกว่าค่าปรับหรือไม่ หากมีต้นทุนในการกำจัดสูงกว่า ผู้ประกอบการก็ย่อมเลือกช่องการเสียค่าปรับหรือจ่ายใต้โต๊ะแทนการจัดการอย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงต้องมีการบริหารให้ต้นทุนในการจัดการมีคุณภาพและถูกลง จูงใจให้โรงงานต้องการบริหารจัดการขยะ ค่าปรับต้องสูงและเอาจริง หากทำเช่นนี้ก็จะเปลี่ยนสมการทั้งหมดได้ เพื่อให้ประเทศมีอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งไปพร้อม ๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews