Home
|
ข่าว

“ณัฐชา” นำชาวประมงร้อง “ธรรมนัส” แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

Featured Image
“ณัฐชา”นำชาวประมง ร้อง “ธรรมนัส” แก้ปัญหาผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ชี้ทำให้สัตว์น้ำทางเศรษฐกิจหลายประเภทอยู่ในความเสี่ยง

 

 

 

 

นายณัฐชา บุญชัยอินสวัสดิ์ สส.เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนชาวประมง 7 จังหวัดที่ได้รับผล กระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ เข้าร้องเรียนต่อร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในระหว่างนำทีมงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามแนวทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

 

 

นายณัฐชา กล่าวว่า ผลกระทบจากปลาหมอคางดำในขณะนี้ถือว่ารุนแรงมาก เพราะลงบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของพี่น้องประชาชนเมื่อไหร่ บ่อนั้นเจ๊งยกบ่อ ไม่ว่าจะเป็นปลา กุ้ง หอย หรืออื่นๆ ส่วนการแพร่กระจายก็รุนแรง ไม่ใช่เฉพาะในจังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น แต่ลามไปถึง 7 จังหวัด ร่วมถึง กรุงเทพมหานคร ด้วย และกำลังทำให้สัตว์น้ำทางเศรษฐกิจหลายประเภทอยู่ในความเสี่ยง เช่น ปลาสลิดบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ถ้าหลุดเข้ามาได้ก็คือหมด ทั้งนี้จากข้อมูลที่ได้รับมาล่าสุด พบการแพร่กระจายไกลออกไปกว่าเดิม ใต้สุดที่มีรายงานการพบปลาหมอคางดำใต้สุดคือ สุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออกไปถึงจันทบุรี และเหนือสุดไปถึงนครสวรรค์

 

 

โดย เมื่อปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอคางดำ จำนวน2,000ตัว จากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข ซึ่งจุดเพาะเลี้ยงอยู่ห่างจากจุดที่รัฐมนตรีนำทีมมาคุยที่นี่ไม่เกิน 12 กิโลเมตร หากเดินทางรถ แต่ถ้าวัดเป็นรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร ขอนำเข้าเมื่อปี 49 นำเข้ามาจริงปี 53 ต่อมาแจ้งว่าวิจัยไม่สำเร็จ ทำลายปลาทั้งหมดไปแล้ว แต่ในปี 55 เริ่มพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติครั้งแรก

 

 

ในตำบลยี่สาร ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งเพาะพันธุ์ของบริษัทเอกชนที่นำเข้ามาดังกล่าว แต่มีการอ้างว่าปลาที่เขานำเข้ามาทำลายไปหมดแล้ว ปลาที่กระจายในแหล่งน้ำมาจากการลักลอบนำเข้า โดยพยายามเบี่ยงเบน ไปใช้คำว่า ปลาหมอสีคางดำ เพื่อจะบอกว่ามีการเพาะพันธุ์เพื่อเป็นปลาสวยงามที่นำเข้าโดยเอกชนรายอื่น ”

 

 

นายณัฐชา กล่าวต่อไปว่า หลังมีการแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำธรรมชาติครั้งแรกสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จึงนำมาสู่ข้อเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือต้องติดตามเอาตัวต้นเหตุของการแพร่ระบาดที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนมารับผิดชอบ เพราะขณะนี้ประชาชนมองว่า การที่ปลาหมอคางดำระบาดไม่ใช่หลุด แต่อาจจะเป็นการตั้งใจ เพราะเอกชนดังกล่าวก็เพาะสัตว์น้ำขายเหมือนกัน และถ้าสัตว์น้ำประชาชนขายไม่ได้ แหล่งเดียวที่เหลือก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น

 

 

ประเด็นที่สอง คือการเยียวยา ที่ผ่านมาแม้ กรมประมง จะมีมาตรการดูแลเยียวยาด้วยการรับซื้อบ้างแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จกลายเป็นยิ่งเพาะพันธุ์โดยคนบางกลุ่มมารับเงินเยียวยา พองบที่ตั้งหมด ปัญหาก็เพิ่มเพราะคนเพาะเลี้ยงพอไม่ได้เงินก็ปล่อยสู่ธรรมชาติ

 

 

“ผลกระทบและการแพร่กระจายหลังจากนั้นรุนแรงมากขึ้น ยกตัวอย่างคลองสนามชัย กรุงเทพฯ ผมไปดูด้วยตัวเอง ทอดแห 10 ครั้ง เจอปลาสายพันธุ์อื่น 2 ตัว ที่เหลือเป็นปลาหมอคางดำเต็มคันรถ การเยียวยาที่เกษตรกรขอว่าต้องการให้รับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท ต้องตั้งเป้าว่าเพื่อการเยียวยาเกษตรกรที่เพาะสัตว์น้ำขาย ซึ่งทางกระทรวงมีการขึ้นทะเบียนไว้อยู่แล้ว ใครเพาะอะไรเท่าไหร่

 

 

ถ้าเจอปลาหมอคางดำซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชีย์ก็เยียวยาเขาไป เพราะสมมมติเขาลงกุ้งสามแสนบาทแต่ตายทั้งบ่อ จับปลาหมอคางดำได้อย่างมากกรมประมงก็รับซื้อแค่สามหมื่น ไม่คุ้มแต่ต้องทำเพื่อตัดตอน การแพร่กระจายให้ได้ และการชดเชยอาจทำได้ด้วยการลงพันธุ์สัตว์น้ำที่เขาเลี้ยงในบ่อนั้นรอบใหม่ให้เขาเป็นไปได้หรือไม่ อยากให้มองเหมือนเวลาเกษตรกรโดนโรคระบาด เช่น ลัมปีสกินระบาดในวัว

 

 

ท่านก็มีงบเยียวยาทันที มีวัคซีนลงไปให้ ก็ต้องมองเหมือนกัน กุ้งบ่อหนึ่งตายราคาก็เท่าวัวตายเหมือนกัน ก็ควรต้องมีมาตรการเยียวยาและจัดการให้เหมือนโรคระบาดในสัตว์ชนิดอื่น แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรเลี้ยงปลา กุ้ง หอยที่นี่ไม่ได้อะไรเลย จนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่นี่กำลังลดลงไปเรื่อยๆ”

 

 

 

ด้าน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ หลังได้รับฟังข้อมูล กล่าวว่า เห็นด้วยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ จากนั้นได้มอบหมายหน่วยงานต่างๆ ไปสำรวจการผลกระทบเพื่อเยียวยาและหาวิธีป้องกัน พร้อม ตั้ง นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาปลาหมอค้างดำ รวมถึงหาต้นเหตุผู้รับผิดชอบ

 

 

เพราะข้ออ้างโยนบาปให้ประชาชนว่าว่ามีเอกชนอื่นนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ฟังไม่ขึ้น และเรื่องนี้หากไม่เร่งยกระดับแก้ไขปัญหา ขึ้นมาจะสร้างความเสียหายมากขึ้นไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่ สร้างความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศไปทั้งภูมิภาค และสัตว์น้ำเศรษฐกิจต่างๆที่เป็นแหล่งรายได้ของประเทศไทย จะรับผลกระทบไปอีกด้วย

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube