“กัณวีร์” ห่วงเกาผิดที่ผิดเวลา ย้ำปัญหาเมียนมาต้องได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด ถูกคน ไม่ใช่แค่มีบารมี แต่ต้องน่าเชื่อถือ ถึงจะเป็นตัวกลางในการสร้างสันติภาพเมียนมา
นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวในเพจตนเรื่องความพยายามของหลายฝ่ายในการเป็นตัวกลางของการแก้ไขปัญหาในเมียนมาว่า เรื่องที่อยากแชร์ให้ทราบ คือ ความพยายามของอดีตผู้นำทั้งของไทยและกัมพูชาที่จะเป็นตัวกลางในปัญหาเมียนมานั้นผิดมั้ย เป็นสิ่งที่อาจถูกเรียกว่า Constrcutive Interventions (การแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์)
เสมือนเหตุการณ์ที่ไทยสมัย พล.อ.ชาติชายใช้นโยบาย เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ในกัมพูชาตอนเขมร 4 ฝ่ายได้หรือไม่ นายกัณวีร์ กล่าวว่า ความพยายามมันคล้าย แต่สารัตถะและช่วงเวลามันไม่ได้ จึงไม่แปลกใจที่จะถูกปฏิเสธจากกองกำลังชนกลุ่มน้อย และทหารเมียนมา
ข่าวที่อดีตนายกทักษิณฯ เรียกผู้นำกองกำลังของชนเผ่าในเมียนมามาพูดคุยนั้น คำถามคือ จะคุยอะไร ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการคุยจะทำอย่างไร มีความแน่ใจและมั่นใจได้มากน้อยขนาดไหนว่าผลการพูดคุยหรือความพยายามนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มั่นใจถึงความรู้สึกของกองกำลังชนเผ่าฝั่งเมียนมาว่าจะดีขึ้นหรือไม่
หลังจากพูดคุยแล้วไทยจะมีความรู้เรื่องสถานการณ์ได้มากขึ้นเหรอ โครงสร้างการบริหารของรัฐบาลไทยจะมั่นคงได้อย่างไรหากคุณทักษิณทำหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาลชุดนี้มากกว่าคนที่ชื่อว่าเศรษฐาเสียเอง ฯลฯ
ประธานวุฒิสภากัมพูชา นายฮุนเซน มีหน้าที่อะไรไปขอคุยกับนางอองซาน ซูจี จะคุยรู้เรื่องเหรอ แล้วที่สำคัญเค้าอยากจะคุยด้วยมั้ย
นายกัณวีร์ฯ กล่าวว่าเข้าใจครับทุกคนคงอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขสถานการณ์ด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การพัฒนาและสันติภาพในเมียนมา เหมือนอดีตผู้นำทั้งสองคนนี้ อยากทำตัวเป็นตัวกลาง (broker) ข่าวออกมาชัดครับกลุ่มชนเผ่าปฏิเสธลงนามให้ฉันทามติให้นายทักษิณเป็นตัวกลางไปเจรจากับทหารเมียนมา และขณะเดียวกันโฆษกทหารเมียนมาก็ออกมาปฏิเสธการอนุมัติการขอคุยกับนางอองซาน ซูจี ด้วย
“ความตั้งใจดีครับ แต่กระบวนการที่จะเป็น mediator หรือ broker ของทั้งสองท่านมันไม่ถูก ผลลัพธ์เลยโดนปฏิเสธทั้งคู่”
เราคงต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นนะครับว่า “สันติภาพ” เริ่มต้นด้วย “ความไว้วางใจ” และ “ความจริงใจ” ผมเดินทางตามแนวชายแดนกว่า 1,000 กม. ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ได้พบตัวแทนกองกำลังเกือบทุกกลุ่ม
รวมถึงไปถึงมาเลเซียก็ได้พบผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของกองกำลังชนเผ่าในเมียนมาด้วย ระหว่างแคมเปญ 2,416 กม.ของผมนี้ ผมได้ยินคำพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การจะแก้ไขปัญหาด้านนี้ขอเถอะว่าต้องเริ่มจาก People to People Participation&Engagement (การมีส่วนร่วมและข้อตกลงระหว่างคนต่อคน) คือต้องรู้สภาพปัญหาในพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ การจะไปเน้นแค่สถานการณ์ชายแดนฝั่งใดฝั่งหนึ่งอย่างเมียนมาอย่างเดียวคงไม่พอ อย่าลืมคนที่อยู่ฝั่งไทย มีปัญหาอะไรบ้างเคยเอามาพิจารณาหรือไม่
Peace Broker (ตัวกลางด้านสันติภาพ) ต้องมีมั้ยในสถานการณ์นี้ ผมยังเชื่อมั่นครับว่าต้องมี แต่ต้องมองให้ออกว่าต้องใช้กลไกที่มีอยู่และพัฒนาให้เหมาะสมมากกว่าการเลือกบุคคล หรือบุคคลเลือกตัวเองให้เป็นบารมีของปัจเจกชนไม่ว่าจะมีมากขนาดไหนคงทำไม่ได้ นี่อย่าลืมว่ายังมีปัจจัยภายนอกที่การมีบารมีแค่ไหนก็คงทำไม่ได้เพราะมันมีอิทธิพลของจีน สหรัฐฯ และแถมตอนนี้มีรัสเซียแล้วนะครับ ยุ่งยากมากขึ้นกับสถานการณ์ในเมียนมาที่มากระทบต่อไทย
“ทรอยกา”ข้อเสนอสามฝ่ายนั่นดีนะครับ แต่ใช้ให้เป็นและปรับให้ถูกและให้เหมาะสม แต่ตอนนี้พอกลับมาดูในไทยมันสร้างความงุนงงกันมากขึ้น รัฐบาลคง งงๆ ตัวเองเช่นกันว่าใครในรัฐบาลนายเศรษฐาฯ ที่ดูแลงานด้านนี้ที่มีมิติทั้งงานการต่างประเทศ งานความมั่นคง งานเศรษฐกิจ งานการพัฒนาเชิงพื้นที่ และงานด้านสันติภาพ
นายกัณวีร์ฯ สรุปว่า เอาไงหล่ะที่นี้ ผมนี่ช๊อตฟิวเลยครับหลังจาก 8 วัน 7 คืนมาเจอเรื่องใหม่ๆ ที่มันดูแล้วแปลกใจ ทั้งๆ ที่เราพยายามจะบอกว่ามันต้องมีการแก้ไขทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง ในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการสร้างระเบียงสันติภาพรอบประเทศเมียนมา และการแก้ไขระยะยาวเรื่องการสร้างการเมืองที่เหมาะสมในเมียนมาด้วยชาวเมียนมาเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews