Home
|
ข่าว

เสวนาทางวิชาการ “วันปรีดี พนมยงค์” เก่าไปใหม่มา สว.ชุดใหม่

Featured Image
เสวนาทางวิชาการ “วันปรีดี พนมยงค์” เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ “จาตุรนต์” หวัง สว.รักษาการ อย่าหาทำอะไรที่เกินขอบเขต ด้าน “พริษฐ์” ชี้ผลงาน สว.คือแช่แข็งประเทศสืบทอดอำนาจ คสช. “ประจักษ์” ให้เต็ม 10 ปกป้องคนที่ตั้งมา

 

 

 

สถาบันปรีดี พนมยงค์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ 2567 PRIDI Talks #25: เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และเผยแพร่แนวคิดเรื่องการปกครองในระบอบรัฐสภา วุฒิสภา และระบบสภาเดียว ซึ่งริเริ่มโดยศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และเนื่องจากวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 นี้ วาระการดำรง
ตำแหน่งของ สว. ได้สิ้นสุดลง จึงเป็นโอกาสที่บนเวทีจะเปิดพื้นที่เสวนาในประเด็น สว. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้าง และให้ความรู้แก่ผู้ที่มีความสนใจลงเลือกตั้ง สว.

 

 

ทั้งนี้ ได้มีการเชิญนักวิชาการและนักการเมืองมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีนายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นายประจักษ์ ก้องกีรติคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมืองฯ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร Law เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

 

โดยนายพริษฐ์ กล่าวว่า สว. ประสบความสำเร็จกับผลงานที่ผ่านมาสามารถที่จะแช่แข็งประเทศด้วยการสืบทอดอำนาจ คสช. เพราะต้นกำเนิดของ สว. มาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 มีส่วนเข้ามาสร้างระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะ3 ประเด็นหลัก คือ1.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งถือเป็นการแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลถึง 2 ครั้ง ในปี 2562 ที่เลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สว. มีบทบาท แต่ไม่ค่อยโจ่งแจ้ง ส่วนในปี 2566 สว. กลับไม่เลือกนายกรัฐมนตรี ที่มาจากฉันทามติของประชาชน ซึ่งในขณะนั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตพรรคก้าวไกล ที่สามารถรวมเสียงได้กว่า 300 ที่นั่ง

 

 

 

กลับไม่ได้รับการโหวตเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการตอกย้ำ สว. มีเจตนาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล 2. ยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการเสนอทั้งหมด 26 ร่าง แต่ผ่านการพิจารณามาจนถึงชั้นของสว. เพียงร่างเดียวเท่านั้น คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง จากพรรคประชาธิปัตย์ และ 3. มีอำนาจในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

ขณะเดียวกัน วันนี้ สว. ได้หมดวาระลงแล้ว จึงเรียกร้องอย่าพยายามทำตัวทวนเข็มนาฬิกา หรือพยายามตีความบทบาทหน้าที่ในบทเฉพาะกาลที่เกินเลย
ส่วนนายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่า สว. เป็นคนดีหรือไม่ดี แต่มองที่ระบบ เพราะที่ผ่านมาคนมองว่า สว. คือ สภาพี่เลี้ยง สส. แต่ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.

 

มีอำนาจให้การรับรองตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระถือเป็นระบบที่ให้อำนาจ สว. มากกว่าที่เคยมีมาในอดีต และเป็นระบบที่ก้าวหน้า ดังนั้นจึงถือว่า สว. ชุดนี้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในการมีอำนาจเหนือกว่าโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยาก ดังนั้น ในช่วงเป็น สว. รักษาการ ก็ไม่ได้มีกติกา หากไม่จำเป็นก็อย่าหาทำอะไรที่เกินขอบเขต

 

 

ด้านนายประจักษ์ ขอประเมินผลงานให้คะแนน สว. เต็ม 10 ในการปกป้องคนที่ตั้งมา คือ คสช. เพราะสามารถทำตัวเป็นลูกจ้างที่ซื่อสัตย์โดยมีอำนาจมากที่สุดที่เคยมีมาสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ พร้อมมองว่าหากไม่มี สว.ชุดนี้ประเทศคงเดินหน้าไปไกลแล้ว จึงทำให้เกิดแนวคิดว่า สว. ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และควรมีเป็นแบบสภาเดี่ยวหรือไม่ เนื่องจากการทำหน้าที่ของ สว. ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการกร่อนเซาะประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์

 

 

ทั้งนี้ จึงอยากเรียกร้องให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาสมัครเป็น สว. กันให้มากๆ เพื่อที่จะให้เกิดความหลากหลายและเป็นตัวเลือก แต่ก็เป็นห่วงถึงระบบการเลือกของรัฐธรรมนูญนี้จะได้ สว. แบบกล่องสุ่ม เพราะไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งในอนาคตอาจจะมีผู้มีอำนาจเข้ามาครอบงำ แจกกล้วยได้ง่าย และมองว่าเป็นเกมของระบบที่ออกแบบมาให้เป็นเช่นนี้ ดังนั้น ประชาชนต้องไปสมัครให้มากที่สุด เพื่อที่จะแก้เกมนี้ได้

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube