ภาคธุรกิจ หวั่นขึ้นค่าแรง400 ฉุดอุตฯ ร่วง
ภาคธุรกิจ หวั่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรง ฉุดอุตฯร่วง วอน รัฐดูแลต้นทุนการผลิตให้แข่งขันได้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2567 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 90.3 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ อาทิ สินค้ายานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต
ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรและทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนมีวันทำงานน้อยเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ส่งผลให้การผลิตสินค้าลดลง ด้านการส่งออกชะลอลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ลดลงจากปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.3 ปรับตัวลดลง จากเดือนมีนาคม 2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร และทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค รวมถึงในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันการเข้าสู่ช่วง Low Season ของภาคการท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง
นอกจากนี้ ปัญหาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางรวมถึงสงครามรัสเซีย – ยูเครน กดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
จึงอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและลดภาระค่าครองชีพ เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ SMEs รวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน เนื่องจากภาคการผลิตยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3.18 ล้านราย ยังไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องเป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews