“พิธา”พบผู้นำสหภาพแรงงานเกาหลีใต้ ถกความสำคัญสิทธิแรงงาน ต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมฝากช่วยดูแลสิทธิแรงงานไทย-นำบทเรียนของเกาหลีใต้พัฒนานโยบายแรงงานก้าวไกล
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางเข้าพบสหพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (Korean Confederation of Trade Unions) (เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนการเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการของแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ โดยมี Yang Kyeung-soo ประธานของ KCTU และเป็นอดีตประธานของสหพันธ์แรงงานของบริษัท KIA Motors ให้การต้อนรับ
นายพิธาได้แลกเปลี่ยนกับ KCTU ว่าสิทธิแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมาพรรคได้ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ เข้าสู่สภาฯ ถึง 6 ฉบับ และพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มี สส. มาจากปีกแรงงานอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้น ๆ สะท้อนว่าเป็นพรรคที่ให้ความสำคัญและให้บทบาทปีกแรงงานอย่างแท้จริง
นายพิธาได้สอบถามสถานการณ์และพัฒนาการของสิทธิแรงงานในเกาหลีใต้ เพื่อนำมาเป็นบทเรียนในการพัฒนานโยบายของพรรคก้าวไกล พร้อมกับฝากให้ประธาน Yang Kyeung-soo ช่วยดูแลสิทธิของแรงงานไทยในเกาหลีใต้อีกด้วย
ด้าน Yang Kyeung-soo ได้เล่าถึงความสำคัญและบทบาทของแรงงานในการสร้างชาติเกาหลี รวมถึงพัฒนาการด้านประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ โดยชี้ให้เห็นว่ามี 3 สิ่งที่สำคัญมากต่อความสำเร็จของกลุ่มแรงงานในเกาหลีใต้ในการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ
นั่นคือ 1) การสั่งสมพลังของประชาชนในการเปลี่ยนแปลง 2) การมีผู้นำทางการเมืองที่เข้าใจสิทธิของกลุ่มแรงงาน และมีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะสร้างการพัฒนาร่วมกันของกลุ่มทุนกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และ 3) การจัดการและความเป็นระบบในการเรียกร้อง
นายพิธายังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับ KTCU เรื่องการเข้ามามีบทบาทของหุ่นยนต์ (Robotics) และ Generative AI ในภาคอุตสาหกรรม และการหาจุดร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีกับแรงงาน ซึ่งหากรัฐมีการจัดการที่ดี Robotics และ Generative AI เหล่านี้จะทำให้เวลาทำงาน (working hours) ของมนุษย์ลดลง และความปลอดภัย (safety) ในโรงงานมีมากขึ้น จึงมีโอกาสที่จะทำให้สวัสดิภาพ (well-being) และผลิตภาพ (productivity) ของแรงงานเพิ่มขึ้น
และทำให้ GDP เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นต้องมีแนวทางพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน นายพิธา เปิดเผยภายหลังหารือกับผู้บริหารบริษัท Hanwha Robotics ในงานประชุม Asian Leadership Conference ที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อวานนี้ (23 พฤษภาคม) ถึงประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีและมนุษย์ว่า ก่อนเดินทางไปที่เกาหลีใต้ ตนได้เห็นบทความเกี่ยวกับ K-Robot หรือหุ่นยนต์ที่ผลิตโดยบริษัทต่างๆ ในประเทศเกาหลีใต้
โดยมีการพูดถึงบริษัท Hanwha Robotics รวมถึงเคยเห็นข่าวนักศึกษาไทยคว้ารางวัลการแข่งขันหุ่นยนต์ในหลายเวทีทั่วโลก คิดว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นอีกเทคโนโลยีสำคัญในการเปลี่ยนโลก จึงได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมเทคโนโลยี K-Robot ของบริษัท Hanwha Robotics ในวันนี้
Hanwha เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรกของประเทศเกาหลีใต้ และอยู่ในรายชื่อ 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลก (Fortune Global 500) ในส่วนของภาคการผลิตหุ่นยนต์ ผู้บริหาร Hanwha กล่าวกับตนว่าแนวคิดของบริษัทในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงานคือการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ หรือที่เรียกว่า Collaborative Robots (Cobots) ไม่ใช่การที่หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานอย่างสิ้นเชิง
ในอดีตการใช้หุ่นยนต์มีความอันตรายในตัวมันเอง จึงไม่สามารถทำงานกับคนได้อย่างไร้รอยต่อ แต่ Cobots ถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ ทำให้แรงงานมีผลิตผลเพิ่มขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยในระหว่างการทำงาน ปัจจุบัน Cobots ของ Hanwha ได้ถูกใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องมีการเชื่อมโลหะ (welding) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหาร (food tech) เป็นหลัก แต่กำลังขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น semi conductor, ยาและเวชภัณฑ์, ภาคเกษตรกรรม ฯลฯ
นายพิธายังพูดคุยถึงแนวโน้มที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation) จะมาทดแทนแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล แต่ทาง Hanwha มองเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นการปลดปล่อยแรงงานคนจากการทำงานที่จำเจเหมือนกันทุกวันและบางงานเป็นงานอันตราย ทาง Hanwha เชื่อว่าโจทย์ของมนุษยชาติเรื่องนี้สามารถแก้ได้โดยการใช้ Cobots อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อปลดล็อกศักยภาพของมนุษย์ที่ควรได้ใช้ความสามารถทำเรื่องที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และใช้ทักษะที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ การเพิ่มผลิตผลผ่านการใช้ทั้งหุ่นยนต์และมนุษย์ร่วมกันอย่างสมดุล จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย
สำหรับการได้ไปเยี่ยมชม Hanwha Robotics ซึ่งเป็นอนาคตของภาคอุตสาหกรรม และการได้พบปะสหพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (Korean Confederation of Trade Unions) เมื่อช่วงเช้า ทำให้เข้าใจถึงโอกาสและข้อกังวลใจจากทั้งสองฝั่ง ที่ดูเผินๆ แล้วสังคมมนุษย์อาจต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง (trade off) แต่จากการพูดคุยทำให้ทราบว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเกมที่ต้องมีผู้แพ้-ผู้ชนะ (zero sum)
แต่หากมีการวางแผนและมองในภาพกว้าง จะสามารถทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วมต่อทั้งภาคแรงงานและภาคอุตสาหกรรม กลายเป็นสถานการณ์ win-win สำหรับทุกฝ่าย ชัยชนะจะตกเป็นของเศรษฐกิจประเทศโดยรวม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews