“ภูมิธรรม” พร้อมแจงทูตแอฟริกา เรื่องข้าว 10 ปี หากไม่สบายใจ ยืนยัน ก่อนส่งออก ข้าวทุกเม็ดต้องได้มาตรฐาน
กรณีมีข่าว ทูตจากประเทศในแอฟริกา ไปสอบถามกระทรวงการต่างประเทศไทย เรื่องข้าว 10 ปีนั้น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ทราบถึงความไม่สบายใจของบางประเทศในตลาดแอฟริกา และมีการพูดถึงข้าวค้างสต๊อก 10 ปี ซึ่งประเด็นนี้ เกิดจากผลของการด้อยค่าประเทศตัวเอง และด้อยค่าข้าวไทย ซึ่งเรื่องข้าว มีการตรวจสอบแล้ว ตามข้อกังวล เพราะมีการจัดเก็บไว้นาน ซึ่งคุณภาพยังไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จะเป็นข้าวกี่ปีก็สามารถขายได้
โดยยืนยันว่าตน พูดเพียงว่า ตลาดแอฟริกา เป็นตลาดที่นิยมข้าวเก่า แต่การเปิดประมูลครั้งนี้ อคส. ได้ประกาศ ทีโออาร์แล้ว ซึ่งเงื่อนไขคือการเปิดกว้างให้ทุกฝ่าย สำหรับผู้ที่ต้องการข้าวทุกคนไม่ระบุเฉพาะส่งออกไปแอฟริกาแต่อย่างใด ซึ่งเอกชน อาจจะนำไปทำเป็นข้าวถุง ก็ได้ แต่ไม่อยากให้คิดกันไป เพราะจะเกิดเป็นดราม่าขึ้นอีก ว่าจะนำไปทำข้าวถุงให้คนไทยกิน
ซึ่งไม่อยากให้เกิดกรณีแบบที่ผ่านมาอีก เพราะควรจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ เพราะเป็นข้าว ที่สามารถบริโภคได้ มีการพิสูจน์มาแล้ว และก่อนการส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ ก็จะดำเนินการตรวจสอบ มาตรฐานก่อนส่งออกอยู่แล้ว เชื่อว่า คนมาประมูล ก็ต้องมั่นใจแล้วถึงจะเข้าร่วมการประมูล
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะได้ไปร่วมงานและได้พบปะกับทูตจากประเทศในแอฟริกา ก็จะเป็นโอกาสในการชี้แจงในเรื่องนี้ ตามข้อเท็จจริง ซึ่งมีหลักฐานการตรวจสอบคุณภาพข้าว จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งผลการตรวจจากภาคเอกชนที่น่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงเชื่อว่า ทางแอฟริกา จะเข้าใจ และไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการกำกับดูแล ควบคุมคุณภาพมาตรฐานส่งออกสินค้าข้าวของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดโลกในการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย กระทรวงพาณิชย์มีการกำกับดูแลและ ควบคุมคุณภาพ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ซึ่งกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพไว้ ดังนี้
(1) เมื่อผู้ส่งออกประสงค์จะส่งออกข้าวหอมมะลิไทย จะต้องยื่นคำร้องต่อกรมการค้าต่างประเทศขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย ขณะเดียวกันต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า
(2) การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยดังกล่าว จะมีพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ไปปฏิบัติราชการเพื่อสุ่มกำกับการทำงานของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์เยอร์)
(3) เมื่อผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของบริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเป็นไปตามมาตรฐานจึงออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าให้ผู้ส่งออกใช้ประกอบพิธีการศุลกากรเพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิไทยต่อไป
โดยที่การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย จะตรวจ 2 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าได้มาตรฐานตามที่กำหนด คือ (1) ตรวจ ณ สถานที่ส่งออก (ตรวจเบื้องต้น) โดยเริ่มจากการสุ่มตัวอย่าง สุ่มจากกองสินค้าเพื่อให้ได้ตัวแทนสินค้าที่คลอบคลุมสินค้าทั้งหมด ในกรณีสินค้าบรรจุกระสอบ ให้สุ่มชักตัวอย่างทุกกระสอบ
การตรวจทางกายภาพ เช่น ตรวจความบริสุทธิ์ว่ามีข้าวชนิดอื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปลอมปนหรือไม่ ตรวจขนาดและความยาวของเมล็ด สีของเมล็ด สิ่งเจือปน และความชื้น เป็นต้น โดยจะตรวจทุก 200 ตัน ที่มีการตรวจปล่อย เช่น สินค้า 1,000 ตัน จะตรวจทางกายภาพ 5 ครั้ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด การจัดทำตัวอย่าง เพื่อนำไปตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงตัวอย่างที่เก็บไว้เพื่อสามารถนำมาตรวจสอบย้อนกลับได้
(2) ตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการ (LAB) (ตรวจละเอียด โดยจะตรวจหาค่าต่างๆ ดังเช่นการตรวจ ณ สถานที่ส่งออก แต่จะใช้เวลาตรวจสอบมากกว่าเนื่องจากใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาตรวจเพิ่มในบางรายการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำขึ้น เช่น การตรวจความนุ่มโดยการหาค่าอมิโลสและการตรวจความบริสุทธิ์โดยการสลายเมล็ดข้าวในด่าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของการตรวจสารตกค้าง จะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อว่าจะให้ตรวจหรือไม่อย่างไรเป็นกรณีๆ ไป และกระทรวงพาณิชย์ ยังได้กำหนดมาตรฐานแนะนำสำหรับมาตรฐานสินค้า ข้าวหอมไทย ข้าวสีไทย ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวขาว และข้าวนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกทางการส่งออก สำหรับตอบสนองความต้องการของตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคที่ มีความหลากหลายในราคาที่เหมาะสม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews