กมธ.แก้ขัดแย้งใต้ แถลงข้อเสนอเร่งด่วน ตั้งคณะกรรมการระดับชาติรับผิดชอบต่อภารกิจการบูรณาการความช่วยเหลือ ทุกหน่วยงานจริงจัง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกมธ. วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยนายรอมฎอน ปันจอร์ รองประธานคณะ กมธ. คนที่สอง แถลงข่าวเกี่ยวกับข้อเสนอเร่งด่วน กรณีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุโกดังเก็บดอกไม้เพลิงระเบิดที่ตลาดมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส
ของคณะ กมธ.ต่อรัฐบาล ก่อนที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 6 มิ.ย.67 นี้ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนต่อไป
ทั้งนี้ คณะ กมธ. ได้ลงพื้นที่ระหว่างวันศุกร์ที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. 67 ณ จังหวัดนราธิวาส แล้ว พบว่า ภายหลังเหตุการณ์ในวันที่ 29 ก.ค. 66 เป็นต้นมา มีการช่วยเหลือและเยียวยาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในระดับจังหวัดอย่างเต็มที่ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่สามารถช่วยเหลือและเยียวยาได้ตามสภาพปัญหาที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบคาดหวังตามที่ควรจะเป็น
นอกจากนั้น จากข้อมูลของหน่วยราชการ เหตุโกดังเก็บดอกไม้เพลิงระเบิดในวันดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชน จำนวน 2,513 คน ใน 682 ครัวเรือน ความเสียหายของบ้านเรือน 649 หลัง ในจำนวนนี้ได้รับการประเมินว่า เสียหายทั้งหลังและจะได้รับการสร้างใหม่ จำนวน 76 หลัง ในขณะที่มีบ้านเรือนที่ต้องได้รับการซ่อมแซมอีกจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเบิกจ่ายเพื่อก่อสร้างและฟื้นฟูเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผ่านไปกว่า 10 เดือน มีการลงนามในสัญญาเพื่อก่อสร้างบ้านหลังใหม่เพียง 2 กรณีเท่านั้น อีกทั้งยังมีข้อถกเถียงทั้งในเรื่องกรอบการเยียวยาของบ้านที่เสียหาย ค่าวัสดุ ค่าช่าง การประเมินความเสียหายที่ไม่สมจริง และการออกแบบบ้านที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้อยู่อาศัย รวมทั้ง การขาดศูนย์ประสานงานหลักที่ผู้ได้รับผลกระทบจะสามารถสอบถามและติดตามอย่างเป็นทางการได้
ทั้งนี้ คณะกมธ.จึงมีข้อเสนอว่า ควรมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบต่อภารกิจการบูรณาการความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างจริงจัง มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ การกำกับดูแล การเร่งรัด และตรวจสอบการดำเนินการฟื้นฟูซ่อมสร้างบ้านเรือนของผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสำรวจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นอกจากนั้น ควรจัดตั้งศูนย์ประสานงานระหว่างภาครัฐด้วยกันและระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยา
ขณะข้อสำคัญ คือ การประสานงานข้อมูลที่ชัดเจนและตรงไปตรงมากับผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อเร่งรัดให้การเยียวยาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews