“สิระ” ยันจะเชิญ ปธ.ศาลฏีกาแจงไม่ใช่มติ กมธ. กำหนดเข้าพบอยู่แล้ว – “รังสิมันต์” ยันทำได้ ไม่ขัด รธน. มาตรา129 รับไม่ใช่ มติ กมธ.
นาย สิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณี นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนจะเชิญประธานศาลฎีกามาชี้แจง ว่า เป็นการแถลงข่าวส่วนบุคคล เพราะคณะกรรมาธิการยังไม่มีมติให้แถลงและการเชิญประธานศาลฎีกา ก็ยังไม่เห็นหนังสือต้องรอดูก่อนว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขัดระเบียบข้อบังคับสภาหรือไม่
โดยการแถลงข่าวเมื่อวาน ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ ไม่เข้าใจว่าใช้เหตุผลใดในการเชิญประธานศาลฎีกามาเพราะตามหลักการต้องมีผู้ร้องเข้ามาก่อน ส่วนที่หยิบยกประเด็นมาจากโซเชียลถือว่าไม่มีผล
ส่วนที่ นายรังสิมันต์ อ้างว่าไม่มีใครคัดค้านนั้น ก็ต้องขอดูหนังสือ ถ้าประชุมกันแล้วไม่ขัดข้อบังคับก็จะดำเนินการตามที่ร้องมา
ทั้งนี้ ทางกรรมาธิการฯ มีมติที่จะเข้าเยี่ยมคารวะประธานศาลฎีกา ในช่วงหลังสงกรานต์อยู่แล้ว ในฐานะประธานฝ่ายตุลาการ นอกจากนี้จะไปพบนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานฝ่ายบริหาร เพื่อติดตามกฎหมายที่ผ่านสภาไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความคืบหน้าจาก คณะรัฐมนตรีพบอัยการสูงสุด พบรัฐมนตรียุติธรรมผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายรังสิมันต์ ขอเพิ่มการขอพบ ผู้บัญชาการทหารบก ด้วย
“รังสิมันต์” ยันเรียกประธาน ศาลฏีกาให้ข้อมูลทำได้ ไม่ขัด รธน. มาตรา 129 รับไม่ใช่มติ กมธ.
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ(กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีที่ตนได้แถลงข่าว และทำหนังสือถึง กมธ.กฎหมาย ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และไม่ได้มีมติจาก กมธ.กฎหมาย ว่า
เบื้องต้นในหนังสือเป็นการเชิญศาล มาชี้แจงในกรณีที่มีข่าวลือ ว่าในการประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา มีการตั้งคำถามไปยังประธานศาลฎีกาว่าเพราะเหตุใดถึงไม่ได้มีการประกันตัวแกนนำคณะราษฎร ทั้งๆ ที่ควรจะทำได้ และไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
ซึ่งประธานศาลฎีกา ได้ให้คำตอบในลักษณะว่ามีบุคคลภายนอกสั่งเข้ามาอีกที ต่อมาข่าวลือแพร่หลายจนกระทั่ง โฆษกของศาลออกมาปฏิเสธ ซึ่งเห็นว่าการปฏิเสธดังกล่าวสั้นมาก และไม่ทำให้กระจ่างได้จึงได้ทำหนังสือฉบับนี้เพื่อหารือ กมธ. ว่าจะการเชิญประธานศาลฎีกา หรือตัวแทน มาชี้แจงต่อ กมธ. แต่ก็มีข้อคิดเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 129 หรือไม่สอดคล้องกับข้อบังคับ สภาผู้แทนราษฎร ข้อ90 หรือไม่
โดยการเรียกประธานศาลฎีกาเข้ามาในกรณีนี้เพื่อสอบถามถึงความเป็นอิสระของตัวผู้พิพากษาและอำนาจตุลาการ และพูดคุยเรื่องภาพรวม จึงไม่ขัดหรือแย้งตามมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญแน่นอนในทางกฎหมายน่าจะสามารถเรียกได้
อย่างไรก็ตาม กมธ. ยังไม่มีบทสรุป เนื่องจากมีองค์ประชุมไม่ครบ จึงไม่สามารถหามติใดๆได้ และจะส่งหนังสือไปถามฝ่ายกฎหมายของสภา ว่า กมธ.กฎหมาย สามารถเรียกประธานศาลฎีกาหรือตัวแทน มาตอบข้อสอบถามของ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 7 เมษายน นี้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news