Home
|
ข่าว

“ณัฐชา-ก้าวไกล” ประเมินให้ “ปลาหมอคางดำ”ไม่ได้อยู่แค่3น้ำ

Featured Image

 

 

 

“ณัฐชา” สส.ก้าวไกล ประเมินให้ “ปลาหมอคางดำ” ไม่ได้อยู่แค่ 3 น้ำ จืด-เค็ม-กร่อยแล้ว แต่อยู่ในน้ำเน่าได้ด้วย อึดทนทุกสภาพแวดล้อม

 

 

 

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ปลาหมอคางดำ ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เชิญกรมประมงและบริษัทที่นำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามา ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้มาเข้าร่วมประชุม แต่ขอชี้แจงเป็นเอกสารในช่วงวันนั้นว่าบริษัท ได้ขอนำเข้าปลาสายพันธุ์นี้มาทดลอง โดยการขออนุญาตเมื่อปี 2549 นำเข้าจริงปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว หลังจากนั้นปลาอยู่ในสภาพอ่อนแอและทยอยตายไปจนหมด จนภายในปี 2554 บริษัทเอกชนได้ทำลายปลาชนิดนี้ โดยการฝังกลบและโรยปูนขาว และเก็บตัวอย่าง 50 ตัวใส่โหลดองฟอมารีน

 

หลังจากนั้น ช่วงบ่าย ตนก็ได้ตั้งกระทู้ถามสดในสภา เพื่อถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงรายงานว่าขวดโหล 2 ขวด ที่มีการเก็บตัวอย่างปลาหมอคางดำอยู่ที่ไหน เพราะบริษัทเอกชนชี้แจงว่า ได้ส่งให้กรมประมงแล้ว ตอนนี้เราเก็บสัดส่วนพันธุกรรมของปลาหมอคางดำทั่วประเทศพบว่ามีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เดียวกัน เหลือเพียงนำส่วนของบริษัทเอกชนมาเทียบ

 

ตั้งแต่วันที่ได้มีข้อสรุป มีการสุ่มเก็บตัวอย่างเมื่อ ปี 2565 กรมประมงไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อ นี่คือเรื่องที่อนุ กมธ. จะต้องสืบค้นให้ได้ ว่าสุดท้ายแล้วกรมประมงทำอะไรอยู่ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

 

 

 

นายณัฐชา ย้ำว่า จนขณะนี้ กรมประมงยังไม่ได้ให้ความชัดเจนอะไรเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการ ตนทราบจากข่าวการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีได้บอกว่าไม่เคยได้รับตัวอย่างปลาทั้ง 2 ขวดนี้ เป็นการให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวต่างประเทศ และมีการให้ข้อมูลกับนักข่าวหลายสำนักว่าในปี 2554 ทางกรมประมงน้ำท่วมใหญ่ เอกสารข้อมูลต่างๆ ก็ไม่ได้รับ

 

นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมประมงยังให้ข้อมูลกับคณะ อนุ กมธ. ว่า ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนพันธุกรรมของปลาหมอคางดำ ซึ่งหลังจากการให้ข้อมูลนี้ เราได้ทราบจากอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ว่ามีรายงานการสืบค้นวิจัยของกรมประมงเอง แต่ไม่แน่ใจว่าทำไมผู้บริหารของกรมประมงถึงบอกว่าไม่ทราบและไม่มีรายงาน

 

ส่วนขณะนี้ ปลาหมอคางดำ ระบาดไปหลายจังหวัดแล้ว นายณัฐชา กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิชาการ ปลาสายพันธุ์นี้อยู่ได้ทั้ง 3 น้ำ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย แต่ ณ ปัจจุบัน ตนคิดว่าอยู่ได้ 4 น้ำด้วยซ้ำ น้ำเน่าก็อยู่ได้ น้ำเสียก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นมันมีความคงทน เรียกว่าอึด เผชิญต่อทุกสภาพแวดล้อม ที่สำคัญ ปลาตัวเมีย ท้องทุก 2 เดือน เพราะฉะนั้นมันปล่อยลูกตัวเล็ก ให้ตัวผู้อม เพื่อป้องกันอันตรายจนกว่าจะแข็งแรงจำนวน 200-300 ตัว อัตราการเจริญเติบโตหรือขยายพันธุ์มันทวีคูณมาก

 

โดยอานุภาพการทำลายล้างของปลาชนิดนี้มันจะไม่กินกันเอง เมื่อหิวไม่กินปลาสายพันธุ์เดียวกันเอง แต่จะไปกินปลาสายพันธุ์อื่น และระยะเวลาในการหิว จากที่มีรายงานเข้ามา ปลาชนิดนี้หิวทุกชั่วโมง เพราะฉะนั้นทุกชั่วโมง ปลาที่กำลังจะขยายพันธุ์ มันหิว มันก็ต้องกินทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก พืช พี่พบเจอกันในคลองธรรมชาติ นายณัฐชา กล่าวอีกว่า หากไปในลำคลองสาธารณะตอนนี้ ต้องพบปลาอย่างน้อย 5-6 สายพันธุ์ แต่ตอนนี้มีเพียงปลาหมอคางดำ 90-95%

 

 

นายณัฐชา ระบุว่า บริษัทที่นำเข้ามาทำการทดลองในตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และแจ้งว่าได้ทำลายทิ้งไปหมดแล้วในที่เดียวกัน ซึ่งปี 2555 เกษตรกรในตำบลยี่สารก็พบปลาสายพันธุ์นี้ครั้งแรก โดยไม่ทราบชื่อและแจ้งต่อกรมประมงว่าในตำบล พบปลาสายพันธุ์นี้เยอะมาก คล้ายปลาหมอเทศ แต่มีคางสีดำ ไม่แน่ใจว่าเป็นปลาชนิดอะไร “มันบังเอิญอยู่ตำบลเดียวกัน อำเภอเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน ระยะเวลาไล่เลี่ยกัน อันนี้คือข้อสงสัยที่น่าตั้งข้อสังเกตอย่างยิ่ง“

 

มีอะไรอยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า วันนี้หลายหน่วยงานพยายามทำเป็นเรื่องปกติ บอกว่าเรื่องเกิดตั้ง 10-15 ปีแล้ว ตนคิดว่าหากยังไม่หันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ พี่น้องประชาชนชาวไทย อาจจะต้องนำเข้าปลาชนิดอื่นมารับประทาน เพราะปลาในคลองสาธารณะจะเหลือเพียงสายพันธุ์เดียว ตนไม่ได้พูดเพื่อให้สร้างความหวาดกลัว แต่มันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ วันนี้พี่น้องที่เดือดร้อนที่สุดเป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องขาดทุนล้มหายตายจากเปลี่ยนอาชีพ

 

แต่นอกเหนือจากเกษตรกรคือพี่น้องประชาชนทั่วไปที่แบกรับเผชิญปัญหาเรื่องค่าอาหารที่สูงขึ้น เพราะพี่น้องประชาชนคนทั่วไปไม่สามารถเพาะเลี้ยงหรือหาปลาสายพันธุ์อื่นหรือสัตว์น้ำได้โดยธรรมชาติ ต้องหาซื้อจากบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด แล้วพี่น้องประชาชนคนไทยจะอยู่อย่างไร

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube