Home
|
ข่าว

“ณัฐชา” จี้เอกชน พบ กมธ.ให้ข้อมูลปลาหมอคางดำ

Featured Image
“ณัฐชา” จี้เอกชน พบ กมธ.ให้ข้อมูลปลาหมอคางดำ คลายสงสัยของประชาชน ย้ำตามเงื่อนไขบริษัทฯ ต้องส่งซากปลาให้กับกรมประมง แต่จากการตรวจสอบไม่มีรายงาน

 

 

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม เนื่องด้วยวันนี้ได้ส่งหนังสือเชิญผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ข้อมูลในฐานะผู้ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำในราชอาณาจักรไทยจากกรมประมง

 

 

นายณัฐชา เปิดเผยว่า วันนี้กมธ. ได้เชิญบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF เพื่อมาชี้แจงถึงข้อโต้แย้ง ที่กรมประมงมอบเอกสารหลักฐานต่างๆ แต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขาได้รับหนังสือจากทาง บริษัทดังกล่าวว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ โดยทำเป็นหนังสือลาประชุม

 

 

นายณัฐชา กล่าวว่า ตนอยากให้บริษัทเอกชนใช้พื้นที่นี้ในการสื่อสารกับประชาชน เพราะเรื่องนี้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนเป็นจำนวนมาก และเวทีของสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ท่านสามารถแสดงความบริสุทธิ์ใจได้ แต่หากท่านเลือกนั่งแถลงข่าวกับสื่อเพียงไม่กี่สำนัก ขาดการโต้แย้งในการซักถาม ก็จะสร้างความสงสัยให้กับประชาชนมากขึ้น

 

 

ส่วนหลังจากนี้กรรมาธิการฯจะทำอย่างไรต่อไปนั้นนายณัฐชากล่าวต่อว่า ด้วยอำนาจหน้าที่ของกมธ. ทำได้แค่ขอความร่วมมือ เมื่อขอไปแล้วไม่ได้รับความร่วมมือหรือข้อมูลก็ต้องสรุปตามข้อมูลที่เรามีซึ่งเรามีข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่เชื่อถือได้ ทั้งกรมประมง กระทรวงเกษตรฯ เพราะฉะนั้นในสัปดาห์หน้า เราจะเชิญสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาแนะนำหน่วยงานของรัฐในการฟ้องร้องต่อไปรวมถึงเชิญหน่วยงานมาประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ เพราะปลาสายพันธุ์นี้ทำลายชีวิตของเกษตรกรไปนับไม่ถ้วน

 

 

สิ่งที่กรมประมงได้ชี้แจงไว้พบว่า บริษัทฯ ได้ทำผิดเงื่อนไข ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต โดยยังไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าบริษัทฯ เป็นต้นตอที่ทำให้ปลาสายพันธุ์นี้หลุดออกมา เพราะไม่มี DNA ต้นทางของปลาสายพันธุ์ดังกล่าวในปี 2554 มีเพียง DNA ของปี 2560 และ 2565 ไม่สามารถยืนยันได้แต่เพียงสันนิษฐานได้เท่านั้น

 

 

อย่างไรก็ตามการนำเข้าปลาหมอคางดำมีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับการอนุญาต โดยเงื่อนไขจะต้องส่งซากปลาที่ทำลายทิ้งแล้วให้กับกรมประมง จากการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2550-2560 กลับไม่พบตัวอย่างปลาสายพันธุ์นี้ ขณะที่ข้อสงสัยว่าในปี 2554 ขวดโหลซากปลาอาจจะหายไปกับน้ำท่วมใหญ่นั้น แต่ในห้องแลปของกรมประมงยังมีพันธุ์ปลาปี 2550 ดังนั้นจะหายเพียงแค่ปี 2554 ไม่ได้ เพราะในห้องแลปมีขวดโหลอยู่ราว 5,000 ขวด น้ำท่วมจะพาไปแค่สองขวดไม่ได้

 

 

นายณัฐชา อธิบายต่อว่าตามเงื่อนไขบริษัทฯ ต้องส่งซากปลาให้กับกรมประมง 2 ขวด รวม 50 ตัว แต่จากการตรวจสอบไม่มีรายงานรับขวดโหลดังกล่าว โดยในบ่ายวันนี้จะมีการสร้างญัตติด่วนด้วยวาจาทีมอภิปรายของพรรคก้าวไกล 13 คนเตรียมข้อมูลและพยานหลักฐานเท่าที่มีตั้งญัตติด่วน เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลให้เห็นปัญหาการแพร่ระบาดครั้งใหญ่และรุกรานสัตว์น้ำ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้แต่เกษตรกรตายรายวัน อยู่เฉย ๆ แล้วรอการแก้ไขไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ซึ่งจะรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะมีความจริงใจในการแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน

 

 

“เราไม่ต้องการส่งมอบระบบนิเวศที่ไม่สมบูรณ์ให้กับคนรุ่นหลัง เรามีบริษัทเอกชนพยายามนำเข้าปลาจากต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก ล่าสุดคือปลาเก๋าหยก ซึ่งนำเข้าจากบริษัทเอกชนรายเดิม เรากังวลว่าจะหลุดรอดออกไปอีก”

 

 

สำหรับคณะอนุกรรมธิการฯ จะส่งพยานหลักฐานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินคดี สิ่งที่เราทราบคือเอกชนนำเข้าเพียงรายเดียว ส่วนการกำจัดทำลายยังไม่มีรายงาน โดยในปี 2560เราเจอปลาสายพันธุ์นี้ในบ่อพักน้ำของบริษัทฯ ดังกล่าว หากบอกว่ามีการระบาดภายนอกแล้วเล็ดลอดเข้ามาก็ต้องตั้งคำถามกลับว่า ปลาข้างในเล็ดลอดออกไปได้บ้างหรือไม่ กรมประมงก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้รัดกุมอำนาจของคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ทำสุดความสามารถแล้ว โดยในวันนี้จะมีการสรุปข้อมูลเพื่อส่งให้ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube