ก้าวไกล แถลง เปิดกลโกง 3 ล็อก ส่อทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย กทม. หวังพรุ่งนี้ “ชัชชาติ” ฟันธงมีทุจริตจริงหรือไม่-ใครเกี่ยวข้อง แฉ ส.ก.บางกลุ่มกดดันผู้ว่า กทม.
ใช้งบแปรเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ยืนยันก้าวไกลพร้อมเสนอชื่อคนนอกร่วมพิจารณางบ กทม. ปีนี้ มั่นใจเมื่อเปิดชื่อจะได้รับการยอมรับพรรคก้าวไกล จัดแถลงข่าวกรณีการทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของ กทม. นำโดยน.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ, นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ
โดยนายศุภณัฐ กล่าวว่า การแถลงวันนี้เพื่อตรวจสอบการทุจริตเครื่องออกกำลังกาย หลังตนเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ต่อมากรุงเทพฯ เริ่มกระบวนการสอบภายใน จนกระทั่ง 4 ก.ค. ทาง กทม. แถลงว่าเครื่องออกกำลังกายเหมือนจะมีราคาสูงกว่าท้องตลาด และทางชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ให้สรุปผลการสอบสวนภายใน 30 วัน ครบกำหนดไปแล้วเมื่อ 19 ก.ค. แต่กลับไม่มีการแถลง กระทั่ง 24 ก.ค. ผู้ว่า กทม.ให้สัมภาษณ์ว่าผลสรุปเอกสารมีความหนาเยอะมาก
เป็นชั้นความลับยังไม่สามารถเปิดเผยได้ มีการสอบถามราคาไปยัง 10 บริษัทแต่ไม่ได้รับคำตอบเลย ที่สำคัญคือผู้ว่าชัชชาติ ยังไม่ระบุว่ามีการทุจริตหรือไม่ ในฐานะคนที่เปิดเผยข้อมูลนี้และติดตามมาตลอด จึงขอแถลงเพิ่มเติมเผื่อเป็นประโยชน์กับทางกรุงเทพฯ ว่าเรื่องนี้มีกระบวนการที่ไม่เหมาะสมอย่างไร โดยมีทฤษฎีที่ตนตั้งชื่อว่า “สามล็อก” เพื่อกำหนดว่าเครื่องออกกำลังกายยี่ห้อไหนจะชนะ และบังเอิญเมื่อเป็นยี่ห้อนี้ จะมีบริษัทนี้ชนะอยู่เสมอ โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ ตนได้มาจาก กทม. เอง
ซึ่งทฤษฎีสามล็อก ได้แก่ (1) ล็อกสเปค จะมีการระบุคำสำคัญที่เมื่ออ่านแล้วชัดเจนมากว่าต้องเป็นยี่ห้อไหน เช่น เครื่องออกกำลังกายต้องมีหน้าจอแบบ high contrast display โปรแกรมออกกำลังกายต้องมี leaning, turning, crouching เป็นการล็อกให้ยี่ห้อ Pulse Fitness หรือการกำหนดโปรแกรมออกกำลังกาย horse racing ซึ่งมีอยู่บริษัทเดียวคือบริษัทจีน WQN fitness
ล็อกสืบราคา เมื่อล็อกสเปกแล้ว ต่อมาคือทำให้ราคากลางสูง โดยมักมีข้อผูกพันอะไรบางอย่าง เช่น ถ้ามีการเขียนสเปคให้เป็นของยี่ห้อ Pulse Fitness ก็จะมีการสืบราคาซึ่งอย่างน้อย 1 ใน 3 เจ้า
ต้องเป็นบริษัท A ตลอดเวลา หรือถ้าเป็นยี่ห้อ WQN fitness ก็จะสืบราคาจากบริษัท B ทุกครั้ง จึงต้องฝากไปยังกรมบัญชีกลางว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องกำหนดราคากลางของเครื่องออกกำลังกาย และล็อกผลงาน ในกรณีล็อกทั้ง 2 ข้อแรกแล้ว แต่บังเอิญมีคนหลุดมาได้ ก็จำเป็นต้องใช้ล็อกผลงานเพื่อสกัดอีกชั้น ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้มีมาตรฐานตายตัว บางโครงการกำหนดวงเงินหรือกำหนดจำนวนสัญญา เช่น ในโครงการมูลค่า 8 ล้านบาท กำหนดต้องมีผลงาน 3 ล้านบาทหนึ่งสัญญา
แต่ในอีกโครงการซึ่งแพงกว่ากันไม่มาก 11 ล้านบาท กลับกำหนดตัวผลงานที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือต้องมีผลงาน 5 ล้านบาท อย่างน้อย 3 สัญญาในเวลา 4 ปี โดยจากข้อมูลจะเห็นว่า กทม. มีการปรับเรื่องผลงานอยู่ทุกครั้งเพื่อสกัดบางเจ้าออกไปและให้บางเจ้าเท่านั้นเข้ามาได้ ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปยุคอดีตผู้ว่า กทม. อัศวิน ขวัญเมือง ก็มีการล็อกสเปคหลายโครงการ ซึ่งไม่ได้หมายถึงอดีตผู้ว่าเกี่ยวข้อง ส่วนยุคผู้ว่าชัชชาติ จากที่มีข้อมูล มีการล็อกสเปคอย่างต่ำ 12-13 จากทั้งหมด 14 โครงการ
โดยกรุงเทพมหานครไม่สามารถปฏิเสธว่าไม่รับรู้รับทราบได้อีกแล้ว เพราะมีห้างหุ้นส่วนแห่งหนึ่งร้องเรียนว่ามีการล็อกผลงานล็อกสเปค แต่กรุงเทพฯ กลับตอบว่าห้างหุ้นส่วนดังกล่าวอาจไม่ได้เปิดเผยตัวตนจริงหรือใช้ชื่อปลอม จึงมีมติไม่ขอตอบข้อวิจารณ์ที่เสนอมา เหมือนอ่านแล้วผ่านไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการจัดทำข้อกำหนดโครงการ (TOR) ใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วนเรื่องเครื่องออกกำลังกายราคาแพง คณะกรรมการของ กทม. ก็รับทราบ แต่สิ่งที่กรุงเทพฯ ตอบคือพิจารณาแล้วเห็นว่าราคา 759,000 บาทที่มีการอ้างนั้น เป็นราคาของเครื่องออกกำลังกายภายในบ้าน ( home use) แต่ราคาที่คณะกรรมการฯ กำหนดเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ (commercial) ซึ่งมีโครงสร้างและวัสดุที่แข็งแรงทนทาน ประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุง นี่เท่ากับ กทม. ยอมรับหรือไม่ว่าราคา 759,000 บาท เป็นราคาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ กทม. สาเหตุสำคัญเพราะกรมบัญชีกลางไม่มีการกำหนดมาตรฐานราคากลางของเครื่องออกกำลังกาย ทำให้ทุกองค์กรชอบที่จะซื้อเครื่องออกกำลังกายเหล่านี้ และทำให้ทุกองค์กรต้องไปสืบราคาอย่างน้อย 3 เจ้าและเกิดปัญหาตามทฤษฎีสามล็อกที่กล่าวไป จึงขอเรียกร้องให้ทางกรุงเทพฯ ตอบได้แล้วว่ากระบวนการเหล่านี้ถือเป็นการทุจริตหรือไม่
ทั้งหมดนี้คือสภาพของการจัดซื้อจัดจ้างที่บิดเบี้ยวแม้เป็นการทำตามระเบียบตามที่ฝ่ายบริหารของ กทม. แจ้ง ซึ่งเรื่องนี้บริษัทที่เข้าประมูลไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ตนเข้าใจว่าทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำลังตรวจสอบอยู่
ส่วนฝ่ายบริหารก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่จากที่ผู้ว่า กทม. แถลงเมื่อ 4 ก.ค. บอกว่าไม่มีข้อมูลใหม่ ไม่สามารถเปิดเผยอะไรได้เลย ให้ข้าราชการตรวจสอบกันเอง ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าการตรวจสอบนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ คณะกรรมการของผู้ว่า กทม. จงใจดึงเรื่องหรือไม่ จึงหวังว่าในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค.) ที่จะมีการแถลงข่าวเรื่องนี้ จะมีข้อมูลมากกว่านี้
จึงเชื่อว่าประชาชนยังติดตามเรื่องนี้อยู่และต้องการคำตอบที่หนักแน่นชัดเจน ว่าท่านมีเจตจำนงในการต่อต้านการทุจริตอย่างแท้จริง ในฐานะ ส.ก. ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร หวังว่าความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องออกกำลังกายที่เกิดขึ้น จะไม่ซ้ำรอยอีกในร่างข้อบัญญัติงบประมาณปี 2568 ที่จะเข้าสภา กทม. พรุ่งนี้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews