“ชัยวุฒิ”เร่งพัฒนาระบบยืนยันตัวตนNational Digital ID
“ชัยวุฒิ” เร่งเดินหน้าพัฒนาระบบยืนยันตัวตน National Digital ID ป้องกันการหลอกลวงประชาชนทำธุรกรรมออนไลน์ สร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการ
นาย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณี มีข่าวลวงข่าวปลอม (Fake News) แพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ว่า ต้องยอมรับความจริงปัจจุบันมีการใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้ส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และไม่ได้มีการควบคุมดูแลได้ทั้งหมด ซึ่งต้องมีระเบียบวิธีการดูแลให้มากขึ้นกว่านี้ โดยตอนนี้มีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ที่เข้ามาดูแลตรวจสอบคัดกรองเนื้อหาข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งปีที่ผ่านมาได้แจ้งเตือนประชาชนไปแล้วหลายหมื่นเรื่อง ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ปล่อยข่าวปลอมนั้น ก็จะบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีเจตนาหลอกลวงประชาชนเพื่อหวังผลประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้เอารัดเอาเปรียบใคร และไม่สร้างปัญหาให้บ้านเมือง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวนโยบายกับกระทรวงดีอีเอส ที่เร่งด่วน คือเรื่อง National Digital ID หรือ บัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการยืนยันตัวตนทางระบบออนไลน์ ถ้าทำระบบและนำมาใช้ได้เร็ว ก็จะสามารถยืนยันตัวตนของผู้ที่ทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้ทั้งหมด เมื่อดูหน้าตาแล้วรู้ว่าเป็นใคร และยืนยันด้วยเลข 13 หลักในบัตรประชาชน ซึ่งจะใช้ฐานข้อมูลจากกรมการปกครอง ระบบนี้จะทำให้ต่อไปคนที่เข้ามาทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย ต้องยืนยันตัวตน จะเป็นตัวปลอม เป็นอวตารไม่ได้แล้ว จะทำให้ผู้ที่เป็นมิจฉาชีพหรือใครที่จะเข้ามาหลอกลวง ก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น หากมีใครทำผิดกฎหมาย โกงกัน ก็จะสามารถดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมายได้ทั้งหมด ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำระบบอยู่
นาย ชัยวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า ต้องป้องกันไม่ให้มีการหลอกลวงกันในโซเชียลมีเดีย ต้องไม่มีบัญชีปลอม ต้องยืนยันตัวตนให้ได้ แต่ทั้งนี้ส่วนตัว ก็ยังพบว่า ในเฟซบุ๊ค ยังมีคนชื่อชัยวุฒิ เหมือนกับตนยังมีตัวปลอมมีอวตารในเฟซบุ๊คเลย ก็กำลังหาวิธีอยู่ว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ก็ต้องพูดคุยกับเฟซบุ๊ค ในความร่วมมือกัน เพราะเป็นองค์กรต่างประเทศ อาจจะต้องออกระเบียบในประเทศว่าจะบังคับใช้อย่างไร
แต่ก็ต้องพูดคุยกับเฟซบุ๊ค ในความร่วมมือกัน เพราะเป็นองค์กรต่างประเทศ อาจจะต้องออกระเบียบในประเทศว่าจะบังคับใช้อย่างไร ก็กำลังศึกษาหาวิธีอยู่แต่เป้าหมายคือ สังคมไทย การใช้แพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ต้องปลอดภัย เป็นโซเชียลมีเดียสีขาว อย่ามาหลอกลวง ยุยงปลุกปั่น หรือ ทำความเดือดร้อนให้บ้านเมือง สร้างความเสียหายให้ประชาชน
อย่างไรก็ตาม การค้าขายออนไลน์ มีกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ว่าจะออกกฎระเบียบเกี่ยวกับแพลตฟอร์มที่มาทำธุรกรรมออนไลน์ ปล่อยกู้ หรือสมัครงาน รวมถึงบริษัทส่งสินค้า อาหารต่าง ๆ นายชัยวุฒิ ยืนยัน การเข้าไปกำกับดูแลไม่ใช้เข้าไปเพื่อสร้างปัญหาแต่เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน และสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียมให้แก่ผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมกันไม่ใช่ให้แพลตฟอร์มต่างชาติไม่เสียภาษี ได้ของถูกกว่าคนไทย คนไทยก็สู้ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งมีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามระบบที่กระทรวงดิจิทัลฯได้ทำมาอยู่แล้ว เช่น การดำเนินคดี หรือ การปิดเว็บที่ทำผิดกฎหมาย ก็ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฟ้องไปที่ศาลอาญาด้วย
โดยนายชัยวุฒิ กล่าวย้ำถึงการพัฒนาระบบยืนยันตัวตน National Digital ID และออกกฎระเบียบเกี่ยวกับแพลตฟอร์มที่มาทำธุรกรรมออนไลน์ ว่าการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง ไม่ได้ทำเพื่อไปกลั่นแกล้งใคร แต่เป้าหมายสูงสุดเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน เพื่อภาพรวมของประเทศเพราะหากปล่อยไว้แบบนี้ไปเรื่อย ๆ บ้านเมืองก็จะวุ่นวาย เช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ พบว่ามีข่าวเพจปลอมของกองสลากฯ หลอกลวงประชาชนเรื่องใบ้หวย ต่าง ๆ จึงคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย ต้องมีทางป้องกันได้
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเอง ยังต้องเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจหลายเรื่อง เช่นโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ขณะนี้เข้าสู่ยุค 5G แล้ว ต้องปรับตัว ทั้งผู้ประกอบการ และภาคส่วนต่าง ๆ พยายามสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้ดีที่สุด พยายามทำเรื่องไวไฟฟรี ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เข้าถึงพื้นที่ห่างไกลตามพื้นที่ชนบทคือโครงการเน็ตประชารัฐ พยายามเดินสายเคเบิ้ลใยแก้ว นำอินเทอร์เน็ตให้ไปถึงทุกหมู่บ้านให้ทั่วถึงทั่วประเทศไทย ให้เกิดความเท่าเทียมและแพร่หลาย โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมออนไลน์ จะมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ให้ปลอดภัยอย่างไรนั้น เบื้องต้นมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ออกมาแล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการออกระเบียบในกฎหมายลูก ซึ่งส่วนตัวติดตามและเป็นห่วงเรื่องนี้อยู่ เพราะว่าระเบียบยังไม่ชัดเจน หากรีบบังคับใช้อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการก็อาจมีการฟ้องร้องดำเนินคดีได้อาจทำให้วุ่นวายพอสมควรแต่ไม่ต้องกังวล สุดท้ายต้องทำให้เกิดความสมดุลทุกอย่างให้ธุรกิจเดินหน้าได้ ประชาชนได้รับความปลอดภัย กระทรวงจะดูเรื่องนี้ให้ดีที่สุด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news