ป.ป.ช. ลุยร้อยเอ็ด ติดตามปัญหา รุกป่าคำใหญ่-คำขวาง
ป.ป.ช. ลุยร้อยเอ็ด ติดตามปัญหา รุกป่าคำใหญ่-คำขวาง รองเลขา ป.ป.ช. หวัง สร้างวัคซีนชาวบ้าน ช่วยกันปกป้องป่า ยก ป่าชุมชนดงทำเลเป็นโมเดล
วันที่ 14 ส.ค.2567 ที่โรงแรมร้อยเอ็ด โฮเทล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช.จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ นำสื่อมวลชน เตรียมลงพื้นที่ติดตามปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคำใหญ่-คำขวาง ที่อำเภออาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด รวมถึงประเด็นการลักลอบตัดไม้พะยุงในเขตอนุรักษ์ป่าชุมชน ดงทำเล-ดอนใหญ่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 14 -16 สิงหาคม 2567
โดยวันนี้ได้มีการจัดเสวนาในประเด็น “สถิติคดีและเรื่องร้องเรียนของสำนักงานป.ป.ช.ภาค 4 และ ” กรณีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคำใหญ่-คำขวาง และกรณีลักลอบตัดไม้พะยุงในเขตอนุรักษ์ป่าชุมชนดงทำเล ดอนใหญ่” ซึ่งเป็นการติดตามผลการดำเนินการ หลังมีการร้องเรียน และตรวจสอบการอ้างเอกสิทธิ์ สค.1 เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ทับพื้นที่ป่าคำใหญ่-คำขวาง ซึ่งมีปัญหาทั้งสิ้น 21 แปลง โดยทางป.ป.ช.ได้ดำเนินการตรวจสอบ ร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) และสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานป.ป.ช. และมีการแปลภาพถ่ายทางอากาศ พบว่า ทั้ง 21 แปลงไม่ได้อยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามที่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด แต่พบว่า มีการอ้างเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ซึ่งจากการตรวจสอบ อยู่ระหว่างการตรวจสอบรังวัดของเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ยังไม่ถึงขั้นออกเป็นโฉนดที่ดินได้ และหลายพื้นที่ได้มีการถอนการขอออกโฉนดที่ดินไปแล้ว
ซึ่งนายสนธยา วีระไทย ผู้อำนวยการกรมไต่สวน 2 สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าวเกิดมี 3 ประเภท คือ 1. ประชาชนบุกรุกโดยที่ไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์ 2. ผู้ที่อ้างเอกสารสิทธิ์สค.1 เพื่อหวังออกเป็นโฉนดที่ดิน และ 3. ผู้ที่บุกรุกเพื่อขายต่อให้กับผู้อื่น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เดิมพื้นที่ปากคำใหญ่ – คำขวาง ทั้งหมด เป็นพื้นที่ป่าสงวนและมีการเข้าสู่การปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก.ทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีสิทธิ์ทำกิน แต่สุดท้ายส.ป.ก. ไม่ได้ดำเนินการ จึงต้องส่งคืนกลับให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงตั้งข้อสังเกต ว่า เป็นช่องว่างให้ประชาชนเข้ามาอ้างสิทธิ์ครอบครองเพื่อออกเป็นโฉนด ทั้งนี้ ไม่พบว่าเป็นการบุกรุกเพื่อใช้พื้นที่ในเรื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เช่นการทำรีสอร์ท หรือสถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นการหาพื้นที่เพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตร ป้อนโรงงาน ประกอบกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานเจ้าของพื้นที่ ไม่ต้องการทำการเกษตร ก็จะนำที่ดิน ไปแอบขายให้นายทุนที่มาแสวงหาผลประโยชน์
โดยนายประทีบ จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.ภาค 4 กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ป.ป.ช.ต้องการ ป้องปราม ซึ่งเป็นมาตรการการเฝ้าระวังของสำนักงานป.ป.ช โดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และเป็นการเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ระมัดระวังการทำหน้าที่ ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำผิด
ซึ่ง ป.ป.ช. เน้นการเฝ้าระวัง เปรียบเสมือนเป็นหมอทำหน้าที่ฉีดวัคซีน แต่หากไม่สามารถป้องกันได้ ก็ต้องทำการรักษา แต่หากรักษาไม่ได้ ต้องทำการ ฌาปนกิจ ก็คือการชี้มูลแจ้งข้อกล่าวหา ตามกระบวนการยืนยันว่าป.ป.ช.ทำหน้าที่โดยไม่ละเว้น แม้แต่คดีของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายคนก็เคยถูกป.ป.ช. ชี้มูลความผิดมาแล้ว
ทั้งนี้คณะกรรมการ จะมองแต่การปราบปราม ก็คงไม่สามารถปราบได้หมด เพราะการหาเอกสารหลักฐานเป็นเรื่องที่ยาก เราจึงมาสร้างเครือข่ายประชาชนเพื่อนำไปสู่การป้องกัน ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช. มีคณะกรรมการผลักดันแก้ไขปัญหา การทุจริตในพื้นที่ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ประธานเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการทุจริต เป็นการบูรณาการร่วมกัน ในการตรวจสอบ
โดยในช่วงท้ายของการเสวนา มีตัวแทนภาคประชาชน ได้เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ในปัจจุบันนี้ แรงจูงใจในการบุกรุกป่า ว่า เป็นคนที่มาจากนอกพื้นที่ และไม่ได้ต้องการจับจองเพราะเป็นที่อยู่อาศัย แต่มีแรงจูงใจจากทรัพย์มูลค่าในป่าคำขวาง เช่น ไม้พะยุง แต่เมื่อตัดไม้พะยุงเสร็จ ก็มาตัดไม้ชิงชัง และต้นยางนา จนมาถึงขณะนี้ พอไม้ใหญ่ใหญ่ในป่าหมด ก็ตัดไม้รวมทุกชนิด เพื่อนำมาขาย ซึ่งขณะนี้มีร้านรับซื้อไม้ 20-30 จุดไม่รู้ว่าหน่วยงานป.ป.ช.ทราบหรือไม่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews