“วิษณุ”ย้ำรัฐบาลยังไม่คุยแก้ รธน.
“วิษณุ” ย้ำอีกรอบ รัฐบาลยังไม่คุยแก้ รธน. พรรคร่วมแยกกันเสนอทำได้ แต่ประเด็นหลักคือต้องการแก้ตรงจุดไหน ยันรัฐบาลฟังข้อเรียกร้องผู้ชุมนุมตลอด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงความจริงใจ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ว่า ไม่ทราบ และทราบเพียงว่าพรรคพลังประชารัฐ เสนอร่างแก้ไข โดยไม่ได้เสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมอีกสอง สามพรรค จะไปเสนอกันเองอีก โดยไม่เสนอด้วยกัน เพราะแต่ละพรรคมองการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันคนละมุม ส่วนรัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ส่วนควรต้องเสนอในนามรัฐบาลหรือไม่ ถ้าได้จะเป็นการดี เพียงแต่ว่าประเด็นอะไรเท่านั้นเอง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเคยคุยกันเมื่อร่างนโยบายใหม่ๆ แต่หลังจากนั้นไม่ได้พูดอะไรกันอีก หรือพูดกันก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ไปหารือด้วย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่ถือว่ารัฐบาลผิดคำพูดพร้อมแนะสื่อลองไปดูว่านโยบายเร่งด่วนข้อ 12 เขียนว่าอย่างไร
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ อาจไม่ตอบโจทย์ของผู้ชุมนุม แต่ขอถามว่าทำไมต้องไปตอบโจทย์ม็อบ เพราะโจทย์อื่นๆ ของประเทศมีอีกมาก และจะต้องพิจารณา ดังนั้น ใครจะคิดอย่างไรก็เสนอกันไป ส่วนกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุจะไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากที่พรรคเสนอ ก็ไม่รู้ว่านายไพบูลย์พูดเช่นนั้นจริงหรือไม่ จะหมายถึงคนเดียว หรือกลุ่มของนายไพบูลย์ ก็ได้ไม่ใช่ร่างของรัฐบาล ถ้าเป็นร่างของรัฐบาลต้องโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคนแถลง
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึง กรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ออกมาชุมนุมในนาม “สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” เพื่อต้องการให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขับไล่รัฐบาล ว่าไม่ทราบ แต่สิ่งที่เขาเรียกร้องมารัฐบาลต้องฟังอยู่แล้วและคนที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปประเมินต่อไป
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีเข้าไปในสถานบันเทิงย่านทองหล่อและร่วมห้องกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ว่า ตนไม่ได้ไปทองหล่อ แต่ไปวัดธาตุทอง ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน แต่ไม่มีอะไรน่ากังวล ส่วนกระแสข่าวที่มี ส.ว. ร่วมรับประทานอาหารกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่ติดโควิด-19 นั้น เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงกว่า โดยเฉพาะการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่จะมีขึ้นวันที่ 7-8 เม.ย. นี้ว่าจะกระทบหรือไม่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news