Home
|
ข่าว

ป.ป.ช.ลุยพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ติดตามความคืบหน้าการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน

Featured Image

 

 

 

ป.ป.ช.ลุยพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ติดตามความคืบหน้าการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน หลังบุกรุกหนักเหลือพันไร่ จากหมื่นไร่

 

วันที่ 15 ส.ค. 2576 นายนิวัติไชย  เกษมมงคล  เลขา ป.ป.ช.พร้อมด้วย นายประทีป  จูฑะศร  รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.ภาค 4 และกรมป่าไม้ รวมถึงจิตอาสาเฝ้าระวังป่า ลงพื้นที่ป่าคำใหญ่- คำขวาง อำเภออาจสามารถ  จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าคำใหญ่-คำขวาง  ที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าชุมชนที่อยู่กลางทุ่งนา แต่ถูกบุกรุกเรื่อยมาจนมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 

 

 

หลายปีต่อมาก็มีการบุกรุกแผ้วถางป่า ป่าก็เริ่มหดตัวไปเรื่อยๆ จากพื้นที่กว่าหมื่นไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 1,000 ไร่ ซึ่งจากการลงพื้นที่และตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวทำให้เห็นปัญหา 2 ด้าน คือการทำมาหากินของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน อพยพมา เพราะไม่มีที่ทำกิน ก็มาอาศัยพื้นที่ป่ามาบุกรุกแผ้วถาง จึงทำให้เกิดอีกปัญหาคือต้นไม้ใหญ่ ไม้ที่มีค่าก็ถูกตัดทำลาย ทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่ทีสภาพเป็นป่า เป็นแหล่งเสื่อมโทรม และคณะรัฐมนตรีจึงได้ทยอย นำพื้นที่เหล่านี้นำไปอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรให้ประชาชนทำกิน เช่นมติคณะรัฐมนตรีในปี 2541 ที่จัดสรรให้ประชาชนเข้ามาจับจอง หรือบางคนที่จับจองไม่ชอบก็ได้สิทธิ์เข้ามาทำกิน 

 

รวมถึงบางคนที่ประสงค์อยากเข้ามาทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นปัญหาที่ป.ป.ช.ต้องเฝ้าระวัง เพราะการพิจารณาให้บุคคลเข้ามาครอบครองที่ดินเพื่อทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมี โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐ หรือ คทช. กำลังพูดคุยกับกรมป่าไม้เพื่อวางแนวเขต จัดสรรที่ดินให้กับราษฎรเข้ามาทำกิน  

 

นายนิวัติไชย ย้ำว่า ราษฎรที่เคยทำมาหากินในพื้นที่ถือว่ามีสิทธิ เพราะครอบครองมาก่อนประกาศเขตป่า ส่วนผู้มาครอบครองหลังประกาศเขตป่าก็ยังให้ทำมาหากินต่อไปเพื่อลดปัญหาในพื้นที่ เพราะไม่มีสภาพเป็นป่า แต่ยังเหลือป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ต้องดูแลไม่ให้มีการบุกรุก ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า ทั้งนี้เราต้องอนุรักษ์พื้นที่ป่ากลางเมือง ด้วยการให้ประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบรวมตัวกันเพื่อช่วยรักษาป่า เพราะเมื่อพบเห็นคนเข้ามาแอบตัดไม้หรือนำไม้ออกไปก็จะสามารถรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ได้โดยเร็ว 

 

“เราจึงมากระตุ้นให้ราษฎรหรือประชาชน ที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ต้องช่วยกันหวงแหน รักษาป่าผืนสุดท้าย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในหน้าที่ป.ป.ช.ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนดูแลปกป้อง และป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐ เอาป่าไปดำเนินการออกเอกสารโดยไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง หรือนำไปให้กับผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติ” นายนิวัติไชย กล่าวและว่าเราจึงมาเพื่อเฝ้าระวัง  

 

จากนั้นนายนิวัติไชย ได้เดินไปดูซากต้นพยอม ขนาดใหญ่ที่ล้ม ที่ชี้ให้เห็นว่าในอดีตพื้นที่ดังกล่าวมีต้นไม้ขนาดใหญ่เช่นนี้อยู่ แต่ถูกบุกรุก เพื่อต้องการให้พื้นที่กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ก่อนนำไปออกเอกสารสิทธิเพื่อครอบครอง ต่อมาได้ร่วมปลูกต้นยางนาร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่และฟื้นฟูพื้นที่ป่า

 

ในช่วงบ่าย นายนิวัติไชย   เดินทางมายังป่าชุมชนดงทำเล-ดอนใหญ่  อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด   ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติ  และได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบ  รับฟังการบรรยายสรุปจากนายดวงจันทร์  พาลำโกน  ประธานกลุ่มเครือข่ายจิตอาสาพิทักษ์ป่าชุมชนดงทำเล-ดอนใหญ่  ซึ่งได้ระบุถึงการร่วมดูแลปกป้องป่าชุมชน หลังชาวบ้านนอกพื้นที่เข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูงในพื้นที่ จึงได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มเครือข่ายจิตอาสาขึ้นมาดูแล ปกป้องเฝ้าระวัง  เพราะเป็นป่าพะยูงผืนสุดท้าย  โดยมีต้นพยุงกว่า 1,200 ต้น โดยในช่วงแรกชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันขึ้นมาประมาณ 20 คน และได้ชักชวนคนในหมู่บ้านให้มาร่วมกันเฝ้าระวังดูแล

 

 

โดยในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้พบปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง  จึงได้มีการตั้งจีพีเอสไว้กับต้นพะยูง แต่ก็ไม่สามารถลดปัญหาได้  แม้จะสามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดและแจ้งให้ตำรวจดำเนินคดี  ซึ่งมักจะมีการลักลอบเข้ามาตัดในช่วงเวลากลางวันและขนย้ายออกในช่วงเวลากลางคืน    ต่อมาจึงมีการติดกล้องวงจรปิดไว้กับต้นไม้ใกล้เคียงเพื่อดูแลเฝ้าระวังต้นพะยูงที่มีความเสี่ยงในการถูกลักลอบเข้ามาตัด และชาวบ้านได้จัดชุดเฝ้าระวัง มีการตั้งป้อมยาม  ทำถนนรอบพื้นที่ป่า  และมีการติดตั้งรั้วลวดหนาม  จึงสามารถลดการลักลอบเข้ามาตัดได้  จากนี้ก็จะใช้โอกาสวันสำคัญร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่ว่างเพื่อให้ป่ามีสภาพสมบูรณ์

 

นายนิวัติไชย ได้เดินไปชมต้นยางนาง (ยายแล) อายุ 500 ปี  ขนาดลำต้นคน 8 คนโอบ  พร้อมได้ร่วมบวชต้นไม้ร่วมกับพระอาจารย์ ดร.แสงจันทร์ วัดป่าดงทำเล  และคณะผู้บริหาร ป.ป.ช.ภาค 4  ก่อนที่จะเดินทางไปสำรวจภายในพื้นที่รอบป่าดงทำเล-ดอนใหญ่   ดูแนวกันไฟ จุดป้อมยามในการเฝ้าระวัง   ดูต้นพะยูง อายุ 100 กว่าปี  ซึ่งเป็นต้นที่ 350 ของป่าชุมชนแห่งนี้   โดยในทุก 3 ปีจะมีการมาวัดขนาดลำต้น หากได้ตามที่กำหนดก็จะมีการติดหมายเลขกำกับไว้ 

 

และจุดสุดท้ายได้ไปดูจุดที่ถูกลักลอบตัดไม้พะยูง  นายนิวัติไชยได้สอบถามกรมป่าไม้มีแนวทางส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้พะยูงในเขตครอบครองของตนเองหรือไม่  รวมถึงได้ให้แนะนำให้เครือข่ายจิตอาสาในการเฝ้าระวังรวมถึงการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การอนุรักษ์ป่าไม้ชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube