ปปช.มีมติสั่งไต่สวนแล้ว 44 สส.เสนอแก้ ม.112 เตรียมให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง ย้ำหน้าที่ปกป้องความมั่นคงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงกรณี การพิจารณาคดี 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกลที่ลงชื่อแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112และล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเสร็จสิ้นเเล้ว ว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีมติสั่งไต่สวนแล้ว ผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่ามีมูลเบื้องต้น
ซึ่งในกระบวนการไต่สวนนั้น ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง และหลังจากที่เปิดโอกาส ให้มีการชี้แจง จากนั้นจะมีการสรุปสำนวนเสนอต่อคณะกรรมการป.ป.ช.พื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
ส่วนกรอบเวลาในการพิจารณานั้น ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะทั้ง 44 ส.ส.ทุกท่าน ไม่ได้มีความพร้อมที่จะมาให้ข้อมูลต่อป.ป.ช. นอกจาก 44 ส.สแล้ว ยังมีบุคคลท่านอื่นที่มีความเกี่ยวข้อง อาทิ บุคคลที่เป็นผู้แทนของรัฐสภาที่มีการเสนอ หรือที่รู้เห็น จะต้องสอบเพิ่มเติม เพื่อให้รู้ถึงเจตนารมณ์เพราะฉะนั้นผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 44 คน บางท่านไม่มีความพร้อมหรือบางท่านพร้อม ป.ป.ช.
ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ขยายระยะเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้เเจงเหตุผลและความจำเป็น เช่น เจ็บป่วยมาไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะหายเมื่อไหร่ หากหายแล้วก็ต้องมาให้ถ้อยคำ เพราะฉะนั้นเวลาที่ประมาณการจริงๆ ตนกำหนดไว้ประมาณคร่าวๆ6 เดือน สอดคล้องกับในหลักการ ที่ให้ไต่สวนพยานหลักฐานภายใน 6 เดือน
ส่วนในเบื้องต้นอาจจะไม่ต้องมาทั้ง 44 คนหรือไม่นั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า อาจจะต้องให้ชี้แจงทั้ง 44 คนก่อน แต่การชี้มูลว่าใครจะผิด เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นแต่ผู้ที่จะพิจารณาวินิจฉัย คืออำนาจคณะกรรมการป.ป.ช.จะเป็นผู้พิจารณาเอง
ส่วนที่ขณะนี้มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่าคณะกรรมการป.ป.ช.จะยกเรื่องดังกล่าวให้ศาลพิจารณานั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า “คงไม่ทำเช่นนั้น เพราะกระบวนการยุติธรรม ต้นทางต้องยุติธรรม มิเช่นนั้นก็ไม่ต้องมีคณะกรรมการป.ป.ช.ส่งเรื่องไปให้ศาลตัดสินเลย โดยที่ไม่ต้องกลั่นกรองดังนั้นการที่มีพนักงานสอบสวน มีอัยการ และมีศาลเพื่อให้แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดนั่นคือการกลั่นกรอง ป.ป.ช.
มีหน้าที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา และผู้ร้อง” และเมื่อได้รับความเป็นธรรมแล้ว ก็ให้อัยการกรองอีกครั้งว่า สิ่งที่ป.ป.ชทำมาถูกต้องหรือไม่ มีข้อสังเกตอย่างไร หากมีข้อสังเกต ก็ตั้งคณะกรรมการร่วมกันและส่งไปยังศาล ซึ่ง ลำดับขั้นตอนของศาล ก็จะมีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา เพื่อกลั่นกรอง เพราะฉะนั้น นี่ คือกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ขอให้มั่นใจว่า ป.ป.ช.ทำเต็มที่ ไม่ทำชุ่ยๆ และส่งไปโดยใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว
ส่วนที่มีการชี้แจงว่า การแก้กฎหมายเป็นหน้าที่ของสส.มีอำนาจเสนอได้ แค่เซ็นต์เอกสารและยังไม่ได้ดำเนินการนั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า นั่นคือข้อชี้แจง ตนไม่แน่ใจว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีการยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยด้วยหรือไม่ และศาลได้วินิจฉัยหรือไม่ และตนไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการป.ป.ช.จะพิจารณาเป็นอื่นได้หรือไม่ ต่อคำวินิจฉัยนี้ ซึ่งนี่คือประเด็นตัวอย่าง แต่หาก ไม่มีป.ป.ช.จะวินิจฉัยว่า สิ่งที่กล่าวอ้างมาโอเคหรือไม่หรือเห็นถึงเจตนาหรือไม่
นายนิวัติไชย กล่าวย้ำว่า ในมาตรฐานจริยธรรมของป.ป.ช. มีเรื่องการปกป้องอธิปไตยความมั่นคงเรื่องระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็จะล่วงล้ำไม่ได้ หรือไม่เคารพไม่ได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews