“กัณวีร์” จี้ นายกฯอิ๊งค์ แสดงเจตจำนงการสร้างสันติภาพชายแดนใต้
‘กัณวีร์’ จี้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แสดงเจตจำนงทางการเมืองต่อการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ อยากเห็นจำเลย 7 คน คดีตากใบ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
และต้องเปิดพื้นที่เสรีภาพให้ประชาชน หยุดคดีปิดปาก
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยถึงผลการเปิดวงสนทนาฉันท์มิตร เปิดพื้นที่การเมืองและสันติภาพ ที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ Deepsouth Watch อ.เมือง จ.ปัตตานี
ซึ่งมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์กับ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ นายอานัส พงศ์ประเสริฐ ประธาน The Looker นายอายุบ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ CAP ดร.สมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ดำเนินรายการโดย นายซาฮารี เจ๊ะหลง
วงสนทนาชวนพูดคุยถึงคดีตากใบ ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งรับฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คน ที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 หรือเมื่อ 20 ปีก่อน
นายกัณวีร์ กล่าวว่า การพูดคุยเปิดอกในพื้นที่ที่มีเสรีภาพ ต้องทำได้ทั่วไป โดยเฉพาะ เรื่องอ่อนไหว จำเป็นต้องมาพูดคุยบนโต๊ะ โดยเฉพาะคดีปิดปาก และคดีตากใบ โดยขอแสดงความเสียใจอีกครั้งหนึ่งกับญาติคดีตากใบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว วันนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม แต่อย่างน้อยความยุติธรรมได้บังเกิดขึ้นแล้ว จำเลย 7 คน ต้องมาแสดงตัวว่าเกิดอะไรขึ้น
ผมก็ยินดีกับญาติที่ได้ความยุติธรรมมาบ้าง อย่างน้อยต้องมีคนที่รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจและกระทำ สังคมไทยต้องตระหนักรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะจะกระทบถึงเวทีระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ตนเองอาจเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย หลังจากทำงานด้านมนุษยธรรมมาเป็นนักการเมือง การที่จำเลยมาเผชิญหน้ากับความยุติธรรม ควรเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น แต่ 20 ปีที่ผ่านมาเป็นสัญลักษณ์ว่า วันนี้สิ่งต่างๆ ที่ได้กลบเกลื่อนไว้ในอดีตจะถูกเปิดโปง วันนี้จะเป็นวันหนึ่งที่ทำให้ทุกคนที่เคยกระทำต้องพึงสังวรณ์ไว้ว่าต่อไปนี้ หนีความจริงไม่ได้ ความยุติธรรมต้องเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ไม่สามารถสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนได้ในปาตานี
นายกัณวีร์ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีเจตจำนงทางการเมือง Political Will ที่ชัดเจน ต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าเสียดายว่าเรามี สส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 13 คน เป็นฝ่ายรัฐบาล แต่ทำไมการผลักดันนโยบายการแก้ปัญหาถึงยังทำไม่ได้
เพราะเราใช้กรอบแนวคิดความมั่นคงอย่างเดียว ไม่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง รัฐบาลจากการยึดอำนาจ พยายามจะปรับปรุงแก้ไขไปหลายช่วงหลายสมัย แต่กลับย้อนไปที่เดิม เพราะรัฐคิดว่าทุกอย่างเป็นปัญหาความมั่นคง ไม่เคยเอาคนที่ได้รับผลกระทบมาบอกว่า ต้องการให้แก้ปัญหาอย่างไร ไม่เคยมีสมการนั้น
“เราต้องยอมรับความเป็นจริง ว่าเรายังใช้สมการเดิม ใช้กรอบความมั่นคงเชิงอนุรักษ์นิยม ไม่ว่าจะเป็นคดีตากใบ ที่แม้มีความยุติธรรมเกิดขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบความคิดเดิม ผมจึงอยากเห็น สส.ที่คุมอำนาจการจัดการ จะต้องทำให้ได้ นักกิจกรรมที่จะถูกดำเนินคดีชุดมลายู ก็เป็นคดีที่ต้องจับตา ถ้ายังมองว่ารากเหง้าปัญหา คือการปิดกั้นเสรีภาพ ของประชาชน
ถ้าคุณไม่สามารถเป็นผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ได้ ผมอาจเป็นคนนอก ผมมาลงพื้นที่ พยายามทำให้ทราบปัญหา แต่คนที่อยู่ตรงนี้ ยังไม่รู้ปัญหาตรงนี้ ทุกคนควรพิจารณาตัวใหม่ ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าไม่เข้าใจ สันติภาพ ถ้าไม่มี Political Will จะละลายกรอบน้ำแข็งที่เป็นปัญหาไม่ได้”
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ที่กล่าวว่า ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความยืดเยื้อของความขัดแย้งที่รุนแรง ยาวนานที่สุด ยาวกว่าการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ 7 สิงหาคม 2508 มาสิ้นสุดลงในปี 2523
จากนโยบาย 66/23 และกระบวนการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ริเริ่มมาก 10 กว่าปี ยังไม่ยุติหรือเห็นผลเป็นรูปธรรม และสถิติความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 กว่าปีที่ผ่านมา จาก 2547-2567 มีเหตุการณ์กว่า 20,000 เหตุการณ์ เสียชีวิต กว่า 7,600 คน จึงรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์
“กรณีตากใบเป็นปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ มี 85 คน เสียชีวิต เป็นความรุนแรงสูงสุด เหมือนกรณีอื่นๆ ในประเทศไทย การหาตัวผู้กระทำผิด ไม่สามารถดำเนินการได้ กระบวนการยุติธรรม มาลงโทษ ในแง่ความรับผิดชอบระดับสูง
โดยในคดีตากใบ น่ายินดีที่เรามีกระบวนการที่ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อฟ้องร้องคดีประวัติศาสตร์ จึงอยากให้เป็นตัวอย่างของสังคมไทย หนึ่งในกระบวนการหาทางออกอย่างสันติคือความยุติธรรม ที่เรายังจัดการไม่ได้ เป็นจุดหนึ่งที่เป็นมิติที่น่าจะเป็นโอกาสในการแก้ปัญหา ด้วยกระบวนการยุติธรรม”
ด้านนายอานัส พงศ์ประเสริฐ กล่าวว่า คดีชุดมลายู นักกิจกรรม 9 คน ซึ่งถูกดำเนินคดี อังยี่ซ่องโจร และอัยการกำลังจะพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ แต่มีเรื่องน่าตกใจที่มีการระบุความผิดถึงการแบ่งแยกดินแดนตามมาตรา 1 ไว้ด้วย ทั้งๆที่กิจกรรมนี้เพื่อแสดงถึงการแสดงออกทางอัตลักษณ์มลายู
ขณะเดียวกัน นายกัณวีร์ ย้ำว่า สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่เกิดหากประชาชนยังถูกปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง ตนเองจึงจะจัดวงพูดคุยแบบนี้ต่อไป เพื่อให้เกิดแรงผลักดันต่อการเปิดพื้นที่เสรีภาพจากประชาชน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews