“กัณวีร์” ดึงสติ 2 ฝ่ายทะเลาะทวงงบฝายไปก็เท่านั้น
“กัณวีร์” ดึงสติ2ฝ่ายทะเลาะทวงงบฝายไปก็เท่านั้น จี้แก้ที่ต้นเหตุ รอดูจุดยืนทางการทูต แนะควรเข้าใจวิถีการหลั่งไหลของน้ำ
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ที่เกิดวิวาทะ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เรื่องถูกตัดงบประมาณในการสร้างฝาย โดยระบุว่า จะทะเลาะกันไปก็เท่านั้น ควรไปทวง burden sharing จากต้นเหตุของน้ำท่วม รอจุดยืนทางการทูตของไทย เพื่อป้องกันผลกระทบของปีศาจธรรมชาติที่กลายพันธุ์ที่มีต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
นายกัณวีร์ กล่าวว่า น้ำท่วมในไทยเกี่ยวอะไรกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วเกี่ยวอะไรกับจุดยืนทางการทูตของไทยสิ่งที่คนไทยอาจมองไม่เห็น ตนเองเห็นฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลทะเลาะกันในเรื่องการตัดงบประมาณการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ จากกรรมาธิการการติดตามงบประมาณ ที่ฝายฯ 3,326 แห่ง ถูกตัดจากงบประมาณ กลายเป็นประเด็นใหญ่ทำให้มีการมองข้ามประเด็นที่ยิ่งใหญ่และเป็นปฐมเหตุแห่งน้ำท่วมใหญ่ทุกครั้งทุกปี
“ท้ากันไปลงพื้นที่เพื่อดูโครงสร้างของฝาย ผมงุนงงเล็กน้อยครับ ฝายมันมีวัตถุประสงค์อะไรแล้วมัน ไล่น้ำ ป้องกันน้ำ ลดน้ำ ดูดน้ำ ฯลฯ มวลน้ำมหาศาลขนาดนั้น หากเราสร้างเขื่อนสิบเขื่อนคงกักไม่ไหวหล่ะครับ
นายกัณวีร์ กล่าวว่า ฝายมีแค่หน้าที่หน่วง ดัก กัก ชะลอน้ำเท่านั้น เป็นการสะสมน้ำด้านหน้าฝาย เมื่อฝายกับมวลน้ำที่แท้จริงเผชิญหน้ากันจริงๆ ฝายกี่ฝายก็เละ “ผมจำคำพูดของน้องน้ำนิ่ง จาก Beach For Life ได้ขอบคุณที่ให้พี่ใช้ชื่อนะครับ น้องน้ำนิ่งสอนผมตอนที่น้องมาช่วยให้ความรู้เรื่องกำแพงกันคลื่นและผลกระทบของการทำกำแพงกันคลื่นต่างๆ ว่า พี่นล เราต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าเราต้องอยู่กับธรรมชาติ เราต้องรู้และทราบให้ได้ว่าชีวิตของธรรมชาติเค้าเป็นอย่างไร เราต้องทราบว่าทรายเดินทางอย่างไร และทะเลเดินทางแบบไหน…”
นายกัณวีร์ กล่าวว่า เราจะทำอะไรกับธรรมชาติ เราต้องรู้จัก ”วิถีการดำรงชีวิตของธรรมชาติ“ หากเรามาพิจารณาเรื่องน้ำท่วมใหญ่ เราควรจะเข้าใจวิถีการเดิน หรือการหลั่งไหลของน้ำ ตามธรรมชาติมันคงเดินทางแบบเหนือลงใต้ใช่หรือไม่น้ำมันคงไม่ได้เดินทางเริ่มต้นจากเส้นเขตแดนสูงสุดของประเทศไทย
“น้ำมันเดินทางข้ามเขตแดน น้ำไม่สนหรอกครับว่าเขตแดนเป็นเส้นกั้นการเดินทางของน้ำ คนที่ทำหน้าที่บริหารจัดการช่วยกรุณามองแผนที่โลก และการบริหารจัดการน้ำทางตอนเหนือจากประเทศไทยด้วยเถอะ ผมเนี่ยไม่ใช่ผู้ทำงานเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แต่อาศัยการอยู่กับชุมชน ผมยังเห็นเลยว่าน้ำที่กระทบไทยและทะลักเข้าไทยนั้น มันมาจากจีนและลาว”
นายกัณวีร์ ระบุว่า 12 เขื่อนที่กั้นน้ำ เก็บน้ำและปล่อยน้ำทางตอนใต้ของจีนในมณฑลยูนนาน ที่บริหารจัดการแม่น้ำโขงที่จะไหลลงมาไทย และยังมีเขื่อนอีก เขื่อนในประเทศลาว ที่ก็ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำที่ไหลลงมาทางตอนใต้ตามสภาพภูมิศาสตร์ก่อนจะเข้าไทยนั้นก็มีบทบาทสำคัญมากๆ กับมวลน้ำที่จะเข้ามาในไทย
“ลองคิดดูให้ดีนะครับ การบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำมาถึงปลายน้ำ กว่าจะถึงไทย แถมในอดีตเส้นทางน้ำยังถูกเกาะแก่ง
และวัตถุตามธรรมชาติที่ยังสกัดกั้นน้ำได้อย่างเป็นธรรมชาติ หากแต่ตอนนี้โครงการเมกะโปรเจคต่างๆ ด้านการก่อสร้างได้ทำลายวัตถุตามธรรมชาติที่สกัดกั้นการหลั่งไหลได้เหมือนก่อน จึงทำให้การหลั่งไหลของน้ำแทบเป็นแบบไหลตรง หากไม่มีเขื่อนต่างๆ ”
นายกัณวีร์ กล่าวว่า หากจีนอยากให้น้ำโขงแห้งก็แค่กั้นน้ำ น้ำก็จะแห้ง หากน้ำเยอะมากๆ ก็ระบายออก ในขณะที่ลาวมีเขื่อนพร้อม ทั้งเก็บกักน้ำ พร้อมผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากลาวมาใช้ในไทย ผ่านเขื่อนปากแบงที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ไทย
“กลับไปที่น้องน้ำนิ่งครับ “เรียนรู้ธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติตามวิถีการดำรงชีวิตของธรรมชาติ เพราะเราก็คือหนึ่งในธรรมชาติด้วย” เมื่อน้ำในแม่น้ำโขงไหลลงใต้ผ่านการบริหารจัดการของจีนผ่านหลายเขื่อน คือ ความพยายามบิดเบือนธรรมชาติ พอรับไม่ไหวแล้วก็ปล่อยธรรมชาติที่ถูกกลายพันธ์ให้มีมวลน้ำมหาศาลลงมาแล้วเขื่อนทางตอนใต้ในลาวที่ไทยเรามีการเอื้อประโยชน์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยบริษัทลงทุนของไทยในลาวแล้ว พอไม่ไหวมันหนักเกินเพราะธรรมชาติกลายพันธุ์นี้ ไทยก็รับมาเต็มๆ เพราะมัวแต่จัดการสิ่งที่กลายพันธุ์นี้แต่ในประเทศ มัวแต่ปิดหูปิดตาว่าต้นเหตุมาจากไหน”
นายกัณวีร์ กล่าวย้ำว่า จะทะเลาะกันไปก็เท่านั้น เปิดตาแล้วจับมือกันเน้นกลไกการบริหารจัดการธรรมชาติที่กลายพันธุ์ที่มันอยู่นอกประเทศเรา การใช้กลไกทวิปรวมทั้งพหุภาคีในการแก้ไขปัญหา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews