Home
|
ข่าว

“เรืองไกร” จี้กกต.สอบ “นายกฯอิ๊งค์” ตั้ง “ภูมิธรรม” อดีตสหายใหญ่คุมกลาโหม

Featured Image

 

 

 

นักร้องเริ่มแล้ว! “เรืองไกร”ส่งEMSถึงกกต.ให้ตรวจสอบ”นายกฯอิ๊งค์” ปมตั้ง”ภูมิธรรม”อดีตสหายใหญ่ คุมกลาโหม เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริต

 

 

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี หรือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ว่า กรณีเสนอชื่อนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

 

นายเรืองไกร กล่าวว่า การที่นางสาวแพทองธาร เลือกนายภูมิธรรม ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งก่อนและหลังการแต่งตั้ง และมีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนทั่วไป จนนายภูมิธรรม ขออย่ารื้อฟื้นนอดีตสมัยเข้าป่า และบอกว่า จำภาพสหายใหญ่เมื่อ 50 ปีไม่ได้ นอกจากนี้นายภูมิธรรม ยังให้สัมภาษณ์ว่า “เหตุผลอะไรที่นายกฯ ให้มานั่งในตำแหน่ง รมว.กลาโหม นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องไปถามนายกฯ เอง”

 

นายเรืองไกร กล่าวว่า เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยที่ 21/2567 แล้ว คำวินิจฉัยคดีนี้ ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีทั้งสิ้น 29 หน้า โดยมีคำวินิจฉัยบางส่วนบางตอนตั้งแต่หน้า 17 ถึงหน้า 28 ได้ตีความเกี่ยวกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 ที่นำไปสู่การวินิจฉัยเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ไว้เป็นแนวบรรทัดฐาน ดังนี้

 

“พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 และมาตรา 170 เป็นบทบัญญัติในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี มาตรา 160 บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้อง … (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง …” มาตรา 170 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ … (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 …”

 

รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) เป็นกรณีความซื่อสัตย์สุจริตในภาพรวมทั่วไปของบุคคลที่ปรากฏต่อสังคม ส่วนกรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) เป็นกรณีเฉพาะเจาะจงที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรมฯ การพิจารณาว่าบุคคลใดมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้พิจารณาในฐานะผู้รับผิดชอบในการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรีและเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว

 

โดยผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการที่ตนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้นเสมอ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามที่มีผู้ถวายคำแนะนำ ความรับผิดชอบดังกล่าวประกอบด้วย ความรับผิดชอบในความถูกต้องและสมบูรณ์ตามแบบพิธีและกระบวนการได้มา ความรับผิดชอบในความถูกต้องของข้อความที่นำนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และความรับผิดชอบในความถูกต้องของสารัตถะและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน

 

ซึ่งข้อเท็จจริงข้างต้นรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 2 ตามที่ถูกกล่าวหาว่าอาจจะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ไม่ว่าอนุมาตราใดมาตราหนึ่งแล้ว ก่อนการตัดสินใจเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี ความหมายของคำว่า “ซื่อสัตย์” และคำว่า “สุจริต” มิใช่เป็นเพียงเรื่องการกระทำทุจริตหรือประพฤติมิชอบเท่านั้น แต่ต้องเป็นการกระทำให้วิญญูชนทั่วไปที่ทราบพฤติการณ์หรือการกระทำนั้นแล้วยอมรับว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จึงจะถือได้ว่า เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหารทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ ประกอบกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชน เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดในลักษณะภาววิสัย ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะต้องอาศัยความรู้ความชำนาญ วุฒิการศึกษา หรือประสบการโดยเฉพาะเพียงความตระหนักรู้ตามมาตรฐานเยี่ยงวิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปในสังคมก็เพียงพอต่อการวินิจฉัยได้แล้ว

 

เมื่อผู้ถูกร้องที่ 1 รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังคงเสนอให้แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2567 ดังนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 2 ดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ผู้ถูกร้องที่ 1 ต้องรับผิดชอบในสารัตถะความถูกต้องที่ตนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว ทั้งที่มีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) โดยมิได้ใช้วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชนหรือแม้แต่การคำนึงถึงมาตรฐานของบุคคลทั่วไปและมิได้คำนึงถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ย่อมเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 หมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งข้อ 27 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ด้วย”

 

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงตามข่าวต่าง ๆ ซี่งเผยแพร่โดยทั่วไป เข้าถึงได้ง่าย ดังนั้น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะปฏิเสธว่าไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของนายภูมิธรรม เวชยชัย ดังกล่าว ย่อมมิอาจรับฟังได้ อีกทั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย ก็ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “เหตุผลอะไรที่นายกฯ ให้มานั่งในตำแหน่ง รมว.กลาโหม นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องไปถามนายกฯ เอง”

 

 

นายเรืองไกร ระบุอีกว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนางสาวแพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องรู้หรือควรรู้ประวัติของนายภูมิธรรม ซึ่งเป็นคนของพรรคเพื่อไทย เคยมีชื่อ สหายใหญ่ ซึ่งตามข่าวที่ปรากฏโดยทั่วไป สหายใหญ่ เคยร่วมกระทำการในลักษณะที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่อาจยกเลิกเพิกถอนได้ ประกอบกับต้องรู้ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีด้วย ดังนั้น การที่นางสาวแพทองธาร ในฐานะนายกรัฐมนตรี เสนอชื่อนายภูมิธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั้น จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี มีเหตุสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube