หอการค้า ชี้ หนี้ครัวเรือนปี 67 สูงขึ้น 8.4% คิดเป็น กว่า 6แสนบาทต่อครอบครัว ชี้ สาเหตุหลักของการเป็นหนี้มาจากเศรษฐกิจชะลอตัว
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2567 จากกลุ่มตัวอย่าง1,300 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า จากสมาชิกส่วนใหญ่เฉลี่ยมี 4 คนต่อ 1 ครัวเรือน และส่วนใหญ่ร้อยละ 34.7 มีรายได้ตั้งแต่ 50,001-100,000 บาท มีการเก็บออมเพื่อกรณีฉุกเฉินน้อยลงจากปีที่ผ่านมา
โดยมีค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางยานพาหนะ ค่าที่อยู่อาศัยยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.3 มีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายทำให้ไม่มีเพียงพอที่จะเก็บออมส่งผลต่อการสร้างหนี้ ผ่านการกดบัตรเงินสด บัตรเครดิต กู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจ จำนำสินทรัพย์กู้เงินสหกรณ์ รวมถึงมีการยืมญาติพี่น้อง หรือนายทุน
โดยมองว่าค่าครองชีพในปัจจุบันทำให้ความเป็นอยู่แย่ลงมาก โดยครอบครัว ร้อยละ 99.7 มีหนี้ และไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ โดยแต่ละครัวเรือนในปี 2567 มีหนี้เฉลี่ย อยู่ที่606,378.38 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.4 คิดเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 69.9 และหนี้นอกระบบร้อยละ 30.1
ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้หนี้ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว การพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้มีความต้องการซื้อมากขึ้น รายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีการกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้า
อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน คือการให้ความรู้ในการวางแผนใช้เงิน หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การเพิ่มรายได้ การเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย และการลดค่าครองชีพให้สอดคล้องกับกลุ่มเปราะบาง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews