อนุ กมธ.ปลาหมอคางดำ สรุป เริ่มมีนำเข้าปลายปี 53-55 เอกชนเพียงรายเดียว ขอนุญาติ นำเข้าจาก กานา 2 พันตัว ตรวจดีเอ็นเอ ใน 6 พื้นที่ไม่แตกต่างกัน
คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบ จากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย นำโดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะอนุฯ นายณัฐชา บัญไชยอินสวัสดิ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะอนุฯ แถลงสรุปผลการดำเนินงาน
โดย นพ.วาโย กล่าวว่า ปลาหมอคางดำ ไม่เคยปรากฏขึ้นในราชอาณาจักรไทย กระทั่ง ช่วงปลายปี 53-55 มีเอกชนรายหนึ่งขอนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามา ที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ต่อมา ช่วงปลายปีเดียวกัน ได้เริ่มพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ดังกล่าว และพบรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 55 เป็นต้นมา มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงสัตว์น้ำที่ถูกเพาะเลี้ยงตามบ่อหรือฟาร์มจนได้รับความเสียหาย ซึ่งแพร่ระบาดไปแล้วกว่า 79 อำเภอ ในพื้นที่ 19 จังหวัด
คณะอนุฯ กล่าวว่า จากการได้ค้นหาสาเหตุของปัญหา พบว่า ปรากฏเอกชนเพียงรายเดียว ในปี 49 ที่ดำเนินการขออนุญาตนำเข้ามาในราชอาณาจักรต่อกรมประมง ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภา (IBC) เป็นผู้พิจารณา และได้รับอนุญาตแต่บริษัทยังไม่ได้นำเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว กระทั่งมีการขออนุญาตในปี 55 ซึ่งครั้งนี้นำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัวจากสาธารณรัฐกานา โดยแจ้งว่าเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ณ ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำของบริษัท ด้วย 2 เงื่อนไข คือ 1. ขอให้มีการตัดเก็บตัวอย่างครีบดองในน้ำยาเก็บตัวอย่างและส่งให้กรมประมงโดยไม่ทำให้ปลาตาย 2.เมื่อสิ้นสุดการศึกษาวิจัย ให้รายงานผลการศึกษา โดยหากผลการศึกษาไม่เป็นไปตามเป้าหมายและไม่ประสงค์ที่จะทำการศึกษาต่อไป ให้ทำลายปลาดังกล่าวทั้งหมด และแจ้งกรมประมงเพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการทำลาย แต่บริษัทได้ชี้แจงว่า เนื่องจากปลายังมีขนาดเล็กและเปราะบางเกินไป จึงไม่สามารถตัดครีบปลาได้ จึงเป็นการพ้นวิสัยที่ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 1 และเป็นหน้าที่ของกรมประมงที่จะต้องทำ โดยเมื่อบริษัทไม่สามารถทำการศึกษาวิจัยได้ จึงได้ทำลาย
และฝั่งกลบ พร้อมส่งมอบให้กับกรมประมงจำนวน 25 ตัวแล้ว แต่ทว่ารายงานของกรมประมงไม่ปรากฏผลดังกล่าว ทั้งยังระบุว่าการดำเนินการข้อ 1 เป็นหน้าที่ของบริษัท
ต่อมาเมื่อเกิดการระบาด กรมประมงศึกษาวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร พบว่าแต่ละประชากรย่อยไม่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมมากนักบ่งชี้ว่าประชากรปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน
นอกจากนี้ การแพร่กระจายของปลาหมอคางดำมีลักษณะเป็นหย่อมไม่เชื่อมกัน บ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่อาจมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำโดยการกระทำของมนุษย์มากกว่าการแพร่กระจายไปตามเส้นทางน้ำที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล
ล่าสุดเมื่อ ส.ค. 2567 กรมประมงได้นำข้อมูลลำดับพันธุกรรมของปลาหมอคางดำที่ระบาดใน 6 จังหวัดซึ่งเก็บอยู่ในธนาคารพันธุกรรมหรือ DNA Bank ของกรมประมง ประกอบกับการสนับสนุนข้อมูลจากฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่าปลาหมอคางดำที่เก็บตัวอย่างจาก 6 จังหวัดที่มีรายงานการระบาดในช่วง พ.ศ. 2560-2564 อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับตัวอย่างข้อมูลทางพันธุกรรมที่มาจากประเทศกานาและโกตดิวัวร์
ขณะที่ นายณัฐชา กล่าวว่า รัฐควรมีการดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งควรใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 97 ซึ่งบัญญัติว่าผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ที่เป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายเสียหายจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของรัฐหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเพื่อใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไป
นอกจากนี้ คณะอนุฯ ยังเห็นว่า กระทรวงต่างๆ ควรบูรณาการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการเกษตรกรรม การจัดหาแหล่งน้ำ และพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ตลอดทั้งการผลิตสินค้าเกษตรกร จึงควรเร่งดำเนินการจัดการและประเมินความเสียหายทางเกษตรเศรษฐศาสตร์ ค่าเสียหายทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด และเยียวยาค่าเสียหาย
นพ.วาโย ยืนยันว่า คณะอนุฯ ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจตัดสิน แต่เป็นผู้มีอำนาจในการเก็บรวบรวมรายงานต่างๆ ส่วนงบประมาณจำนวน 450 ล้านบาทนั้น ไม่มีการขอเพิ่มเติม เพียงให้กรมประมงจัดสรรตนยืนยันว่า แม้คณะอนุฯ หมดวาระแล้ว แต่งบประมาณส่วนนี้ยังไม่ได้ทิ้ง ทั้งนี้ หากใครมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถส่งมาที่คณะกรรมาธิการฯ อว.ได้
โดยขณะนี้ มีอย่างน้อย 15 หน่วยงาน ที่ได้เข้าสู่กระบวนการของศาลปกครอง ทางด้านประชาชนเอง เราก็ได้เชิญสภาทนายความและภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วยเช่นเดียวกัน และเริ่มมีการดำเนินการฟ้องร้องคดีไปแล้ว และหลายหน่วยงานก็ได้มีการออกระเบียบในพื้นที่กรุงเทพฯ ในการกำหนดเกณฑ์เยียวยาออกมาแล้ว ซึ่งตนเชื่อว่าไม่กี่เดือนนี้จะสัมฤทธิ์ผล
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews