Home
|
ข่าว

“นฤมล” ควง2รมช.ตรวจน้ำท่วมอยุธยา-ปทุมฯ มั่นใจไม่กระทบกทม.

Featured Image
“นฤมล” ควง “อิทธิ-อัครา” ตรวจน้ำท่วมอยุธยา-ปทุมฯ มั่นใจปีนี้ ไม่กระทบ กทม. เตรียมชง ครม.เคาะงบฯ 3,700 ล. ฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลด ด้าน “ธรรมนัส-อรรถกร” ร่วมลุยด้วย

 

 

 

 

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอัครา พรหมเผ่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา อดีตรมว.เกษตรฯ , นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา อดีตรมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่ไปด้วย

 

 

 

ซึ่งจุดแรก ที่วัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งหลังจากเขื่อนเจ้าพระยาได้มีการระบายน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น วัดได้ตั้งพนังกั้นน้ำกระสอบทราย และเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันน้ำท่วมโบราณสถาน และบริเวณภายในวัด ซึ่งเมื่อคณะเดินทางมาถึงได้รับฟังบรรยายสถานการณ์ระบายน้ำ จากนายเดช เล็กวิชัยรองอธิบดีกรมชลประทาน และได้ไปตรวจเยี่ยมบริเวณพนังกั้นน้ำก่อนจะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

 

 

 

โดยนางนฤมล ระบุว่า สถานการณ์น้ำเหนือที่ทยอยลงมาสู่พื้นที่ภาคกลางจากการที่ได้รับฟังรองอธิบดีกรมชลประทาน อธิบายมานั้น น้ำเหนือจากมุ่งไปยังที่เขื่อนภูมิพล ก็จะไม่มีปัญหากระทบต่อภาคกลางขณะที่ส่วนของภาคกลางนั้นเป็นน้ำเดินที่ต้องระบายออก ซึ่งตนก็มีความมั่นใจว่าจะไม่ท่วมกรุงเทพฯแน่นอน เพราะปริมาณน้ำที่ยังสามารถกักเก็บเพิ่มได้ ในเขื่อนนั้นต่างกับปี 2554 อย่างสิ้นเชิง

 

 

 

โดยนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า น้ำเหนือที่เพิ่มขึ้นมานั้นมาจากปริมาณน้ำฝนที่ปีนี้ ลงมาที่ลุ่มแม่น้ำปิงจำนวนมาก โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งทำลายสถิติปี 2554 ไปแล้วแต่น้ำมวลนี้จะไหลลงไปยังเขื่อนภูมิพลทั้งหมด ซึ่งก็จะสามารถกักเก็บน้ำนี้ได้ทั้งหมด ก็ไม่มีปัญหา ส่วนลุ่มแม่น้ำวัง ขณะนี้ฝนเริ่มน้อยลง เขื่อนกิ่วลม ก็สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพ และเราระบายน้ำไม่มากจึงไม่ส่งผลกระทบต่อบริเวณท้ายน้ำ

 

 

ดังนั้นแม่น้ำวังที่รวมกับแม่น้ำปิง ที่ท้ายเขื่อนภูมิพล แล้วจะไหลไปบรรจบกันที่จังหวัดนครสวรรค์ ประมาณ 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีขณะที่อีกฝั่งนึงแม่น้ำน่าน ฝนที่ตกตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมาเขื่อนสิริกิติ์สามารถเก็บได้ทั้งหมด และมีน้ำเกือบเต็มเขื่อน ซึ่งขณะนี้ก็ระบายมาเพียงนิดเดียว เนื่องจากจะเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

 

 

ส่วนที่ยังเป็นห่วงก็คือแม่น้ำยม ซึ่งโดนมาหลายรอบแล้ว และไม่มีเครื่องมือในการชะลอน้ำได้ ซึ่งแม่น้ำยมส่วนหนึ่งก็จะไหลลงมาที่แม่น้ำน่าน บางส่วนก็จะแวะพักที่ทุ่งบางระกำ ซึ่งตอนนี้น้ำเต็มทุ่งแล้ว หลังจากนี้กรมชลประทานก็พยายามจะระบายน้ำลงมาที่แม่น้ำน่าน มารวมกันที่ปากน้ำโพ ทำให้แม่น้ำน่านและแม่น้ำปิงมารวมกันที่จังหวัดนครสวรรค์ขณะนี้อยู่ที่ปริมาณ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

 

 

 

ก็ยังถือว่าไม่มากประมาณ 70% ของความจุ และน้ำก็จะไหลไปรวมกันที่เขื่อนเจ้าพระยา ที่วันนี้ระบายอยู่ที่ 1,999 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เมื่อวานนี้ได้อนุมัติให้เราระบายน้ำได้ ตั้งแต่ 2,000-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันนี้เราก็จะเริ่มที่จะระบายน้ำมากขึ้น อย่างไรก็ตามการระบายน้ำจากหากเกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยจะเป็นการระบายน้ำแบบขั้นบันได ซึ่งปริมาณน้ำท้ายเขื่อนและเหนือเขื่อนต่างกันประมาณ 2.50 เมตร

 

 

 

อย่างไรก็ตาม น้ำที่จะมีผลกระทบต่อชาวกรุงเทพมหานครก็ต้องไปดูกันที่บางไทร ที่จะมีผลกระทบต่อชาวกรุงเทพฯ น้ำจะต้องระบายมากกว่า 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังเหลืออีก 30% จึงขอให้ชาวกรุงเทพฯมั่นใจได้ว่า ปีนี้น้ำจะไม่มีผลกระทบต่อชาวกรุงเทพฯอย่างแน่นอน ยกเว้นว่าหากมีพายุเข้ามา เส้นทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็พยากรณ์อากาศว่าขณะนี้ลมหนาว เริ่มทยอยพัดเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว

 

 

 

เมื่อถามว่าหากทยอยระบายน้ำในพื้นที่ภาคกลางเพิ่มขึ้นมากกว่า 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำมากขึ้น ได้ประเมินสถานการณ์ไว้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ อย่างไรบ้าง นายเดชตอบว่า ถ้าหากไม่มีน้ำหรือพายุอะไรที่เพิ่มเติมจากนี้ก็คาดว่าประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติได้ นายเดช ยังระบุอีกว่า ในเดือนนี้จะมีน้ำทะเลหนุนสูงอีก ในช่วงระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคมนี้ ก็จะส่งผลต่อการระบายน้ำอย่างมาก อย่างไรก็ตามการเร่งระบายน้ำเหนือนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมด้วย

 

 

 

นางนฤมล กล่าวเสริมว่า ที่พื้นที่กรุงเทพฯนายกรัฐมนตรีได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อที่จะเตรียมแผนรองรับและประสานทางกรมชลประทานอยู่ตลอด แต่อย่างที่เรากังวลก็คือเรื่องของปริมาณฝนเพราะฉะนั้นผู้ว่ากทมก็ได้เตรียมแผนเรื่องของการระบายน้ำฝน ไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งทำความสะอาดสิ่งกีดขวาง ในคลองระบายน้ำต่างๆ รวมถึงอุโมงค์ระบายน้ำในกรุงเทพมหานคร

 

 

 

ผู้สื่อข่าวถึงการเยียวยาในพื้นที่เกษตรกรรม ได้มีการเตรียมการอย่างไรบ้าง นางนฤมลกล่าวว่า ในส่วนของการเยียวยางบจะอยู่กับทางกระทรวงมหาดไทย แต่กระทรวงเกษตรจะเป็นผู้ตรวจสอบความเสียหายและจะประสานงานกลับมหาดไทยในแต่ละพื้นที่ ส่วนงบฟื้นฟูเป็นส่วนของกระทรวงเกษตรที่จะทำเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี ซึ่งหวังว่าจะได้เข้าที่ประชุมครม.ในวันอังคารที่จะถึงนี้ ประมาณ 3,700 ล้าน สำหรับพื้นที่เสียหายประมาณ 1 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่นาข้าว ตรงนี้ต้องรอครมอนุมัติ และจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโครงการที่จะมอบเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆให้เกษตรกรได้เพาะปลูก หลังจากที่น้ำลดแล้ว หากเป็นพื้นที่ประมงก็จะเป็นเรื่องของพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ ส่วนปศุสัตว์ก็จะมีต่างหาก ส่วนหากพื้นที่ที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้แล้วหลังจากน้ำลดก็จะมีเงินชดเชยให้ ซึ่งต้องรอคำตอบ จากสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง ว่าตามระเบียบสามารถทำได้หรือไม่

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube