“พีระพันธุ์” เปิด “Energy Symposium 2024” ผลักดันการปรับตัวภาคอุตฯ ย้ำ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม
ที่สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2024 ภายใต้หัวข้อ”การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality” โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงาน ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราจะได้ยินเรื่องการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ที่หมายถึง การพยายามทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เป็นกลาง
ให้มีความสมดุลกันระหว่างการปล่อยและการดูดกลับด้วยการอนุรักษ์และปลูกป่าไม้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากการผลิตการใช้พลังงานในทุกภาคส่วน ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 20 ของโลก จากทั้งหมด 198 ประเทศ ซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานประมาณร้อยละ 70 จากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งรวมกัน
โดยสิ่งที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญและดำเนินการอยู่ คือ การนำแผนไปสู่การปฏิบัติด้วยการ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมให้สามารถปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนก็สามารถประยุกต์แนวคิดดังกล่าวได้เช่นกันเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยคาร์บอนจากดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการดูดกลับด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือการชดเชยคาร์บอน จัดการสภาวะปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่าน
โดย “รื้อ” ระบบการผลิตการใช้พลังงานเก่าที่ล่าสมัยไร้ประสิทธิภาพออกไป ซึ่งจะเป็นการ “ลด” การใช้พลังงานของตนเองไปโดยอัตโนมัติ นั่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มีการผลิตที่ใช้พลังงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตที่มากขึ้นด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพพลังงานสูง “ปลด” พันธนาการจากการพึ่งพาพลังงานจากภายนอกด้วยการผลิตพลังงานสะอาดใช้เอง
ที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถกำหนดและควบคุมต้นทุนด้านพลังงานได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะต้นทุนด้านไฟฟ้าที่การผลิตไฟฟ้าของส่วนกลางต้องนำเข้าเชื้อเพลิง LNG จากต่างประเทศ ทำให้มีต้นทุนสูงและมีราคาผันผวนตามราคาตลาดโลก ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและกระทบต่อความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมยังสามารถ “สร้าง” มูลค่าเพิ่มให้กับของเสียน้ำเสียจากกระบวนการผลิตของตนเองต่อยอดสู่การผลิตเป็นพลังงานทดแทนสำหรับนำกลับมาใช้เอง “สร้าง”ระบบบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของตนเองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การปรับปรุงระบบขนส่งเป็นรถไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ที่เชื่อว่ามีหลายแห่งที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว โดยกระทรวงพลังงานจะเดินหน้าผลักดันต่อไป เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวสู่การผลิตการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน ลดต้นทุนด้านการจัดการทรัพยากรวัตถุดิบและการจัดการของเสีย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และท้ายที่สุดจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศและของโลกเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews