กต. ชี้แจงละเอียดยิบ MOU44 เจรจาพื้นที่ทับซ้อนเกาะกูด ไม่ทำให้ไทยเสียดินแดน ยันเป็นหลักเกณฑ์กลาง ใช้เจรจากับกัมพูชา รอ ครม. เคาะคณะทำงาน เดินหน้าเจรจา พื้นที่ทับซ้อนและเข้าใช้ประโยชน์
นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย แถลงการให้ข้อมูลเรื่อง“Overlapping Claims Area (OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา” โดยนางสุพรรณวษา ชี้แจงว่า เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีป ของกัมพูชา ปี 2515 ซึ่งไทยรับไม่ได้ กับการประกาศไหล่ทวีปดังกล่าวเพราะเส้นเขตแดนทับ และพาดผ่านเกาะกูด ทำให้ในปีถัดมา ไทยจึงประกาศเขตไหล่ทวีปของตัวเอง จึงทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน
อีกทั้งกฎหมายที่ประกาศเขตไหล่ทวีปเป็นกฎหมายของแต่ละประเทศ ไม่มีผลกับประเทศอื่น แต่กฎหมายไทยกำหนดไว้ว่า เมื่อเกิดการทับซ้อน จะต้องมีการเจรจากัน โดยพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน มีถึง 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตรถือว่าใหญ่มาก จึงต้องมีการพูดคุยกันให้ชัดเจนไทย-กัมพูชา เคยคุยกันเรื่องพื้นที่นี้ ตั้งแต่ปี 13 ทางกัมพูชา ต้องการพัฒนาร่วมพื้นที่ทางทะเล แต่ไทยเห็นว่า ต้องคำนึก สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย ทำให้ยังไม่สามารถตกลงกันได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ไทยยังคงยึดหลักการเจรจาในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งเคยทำสำเร็จมาแล้วทำกับมาเลเซียและ สปป.ลาว แต่เมื่อหารือกันไม่ได้ จึงเกิดMOU 2544 ขึ้น (23ปีแล้ว) เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขกลางในการหารือร่วมกัน โดยเน้นเจรจาแบ่งเขตทางทะเลและ เจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน
ส่วนที่ถูกตั้งข้อสังเกตุว่า จะเป็นการ ยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชา หรือไม่นั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ยืนยัน MOU2544 ถือว่าไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาต้องมีการตกลงกันจนกว่าสิ่งที่ได้จะสมประโยชน์ของไทย พร้อมยืนยัน ทรัพยากรอยู่ตรงไหน เข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับเส้นเขตแดน
ทั้งนี้ มีการตั้งคณะทำงาน กำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล ขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา
และคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) ไทยกัมพูชา มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นคณะกรรมการ ราว 20 คน ซึ่งขณะนี้ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วแต่ยังไม่ทราบว่า จะเข้าสู่วาระการพิจารณาเมื่อไหร่ และเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเรียบร้อยแล้วก็จะมีการนัดประชุมของคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางและประเด็นในการเจรจาเมื่อได้ข้อสรุป จะมีการทาบทาม กับทางการกัมพูชา เพื่อหารือร่วมกันต่อไป
ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า MOU2544 จะไม่ทำให้ไทยเสียเกาะกูด เพราะไทยยึดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสเป็นสำคัญ และไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา หลักสากลถือมีว่าสิทธิที่จะออกเส้นไหล่ทวีปได้แต่ไม่มีผลกับประเทศอื่น เป็นเพียงกฎหมายภายในเท่านั้น อีกทั้ง MOU ไม่ใช่ปีศาจร้าย ที่จะมาสร้างพันธะอะไรให้กับเรา เพราะต่างฝ่ายต่างมีเส้นของตัวเอง ดังนั้น เมื่อเกิดข้อพิพาทกัน ก็ต้องมีการเจรจา อีกทั้ง MOU 2544 สอดคล้องกับ พระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีป แต่ทั้งนี้ สิทธิอธิปไตย ในการสำรวจหรือใช้ประโยชน์ พื้นที่ใต้ทะเล ก็จะต้องมีการเจรจากัน
ส่วนข้อเรียกร้องให้ยกเลิก MOU2544 เพราะจะทำให้ไทยเสียประโยชน์ นั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ชี้แจงประเด็น นี้ว่า เมื่อปี 2552 ความสัมพันธ์ ระหว่างไทย-กัมพูชา ค่อนข้างท้าทายหลายเรื่อง ดังนั้น การเจรจาเรื่องเขตแดน จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่จะต้องมีการทบทวน และเมื่อเห็นว่า การเจรจายังไม่มีความคืบหน้า หรือไม่เกิดผลสัมฤทธิ์กระทรวงการต่างประเทศ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีประกาศยกเลิกMOU ฉบับดังกล่าว
ซึ่งคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น มีมติเห็นชอบในหลักการและมีความเห็นพ่วงท้ายว่าจะต้องศึกษาผลกระทบและรายละเอียดอย่างรอบคอบก่อน กระทรวงการต่างประเทศ จึงนำกลับมาปรึกษากับที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายและคณะกรรมการชุดพิเศษรวมถึงฝ่ายความมั่นคงอย่างละเอียดรอบคอบ กระทั้งปี 2557 เห็นว่า MOU ฉบับนี้ ยังมีประโยชน์ จึงขอให้คณะรัฐมนตรี ทบทวนมติ กลับไปใช้ MOU2544 อีกครั้ง
เพื่อประโยชน์ของประเทศ และเชื่อว่าเป็นกลไลที่เหมาะสมที่สุด พร้อมยืนยันว่า ทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลเข้ามาใหม่ก็จะเสนอแนวทางในการดำเนินการให้ ครม. พิจาณราทุกครั้งโดยมั่นใจ MOU จะให้ความโปร่งใส มีแนวทางในการเดินหน้าเจรจาเรื่องเขตแดน
สำหรับเรื่องเขื่อนกันคลื่นของ กัมพูชา มีบริษัทเอกชนสร้างเขื่อนเป็นรูปแบบท่าเทียบเรือ ออกมาจากฝั่งบนเกาะกง กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประท้วงไปแล้ว 3 ครั้ง ในปี2541/2544/2564 ทำให้บริษัทดังกล่าวหยุดการก่อสร้าง แต่ยังไม่ได้รื้อถอนออกไป และไม่มีการเข้าไปใช้งานอีกจนถึงตอนนี้ เนื่องจากมีพื้นที่ บางส่วนรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนของไทย กองทัพเรือ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยังติดตามอยู่อย่างใกล้ชิดว่ามีความคืบหน้าอย่างไรต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews