พรรคประชาชน จี้รบ.มุ่งมั่นลดก๊าซเรือนกระจกจริงจัง
“ศนิวาร-วรภพ” พรรคประชาชน แถลงท่าทีไทยในเวทีโลก(เดือด) COP29″ หวังรัฐบาลไทย แสดงความมุ่งมั่นลดก๊าซเรือนกระจกจริงจัง จี้ นายกฯ เซ็น ร่างกฎหมาย ดันออกมาบังคับใช้ก่อนปี 2026
นางสาวศนิวาร บัวบาน พร้อมด้วย นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลง Policy Watch: “ท่าทีไทยในเวทีโลก(เดือด) COP29” โดยนางสาวศนิวาร ชี้ให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไทยเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ ภาวะโลกรวน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยกว่า 280,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.82% ของ GDP แม้ไทยมีแผนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ แต่กลับไม่มีเป้าหมายและตัวชี้วัด ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกัน ไม่มีแนวนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงไม่มีกรอบงบประมาณที่ชัดเจน
ดังนั้น หากรัฐบาลไทยยืนยันต่อที่ประชุม Cop 29 ได้ชัดเจน แสดงความมุ่งมั่นที่จะลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เวทีนี้ จะแสดงให้นานาประเทศเห็นถึงบทบาทของไทย
ด้านนายวรภพ กล่าวถึงความล่าช้าของไทยในการจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยย้อนไปในปี 2021 ของการประชุม COP 26 ในเวทีมีการวางเป้าหมายว่าในปี 2030 ลดก๊าซเรือกระจก 30-40% ปี 2050 เป็นกลางทางคาร์บอน และปี 2065 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่ในปี 2024 ยังไม่มีความคืบหน้าในการขับเคลื่อนตามเป้าหมายจากรัฐบาลไทย วัดจาก 3 ปี หลังจากประชุม COP 26 และ 1 ปี ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย
สำหรับร่าง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ยื่นเข้าสู่สภาฯ ในช่วงเดือน ธ.ค. ปี 2566 แต่เป็นกฎหมายการเงิน จึงต้องรอนายกรัฐมนตรีลงนาม โดยย้ำว่าร่างของพรรคก้าวไกล มีกลไกในการคุ้มครองสิทธิชุมชน และป้องกันการฟอกเขียวที่รัดกุมกว่า และร่างกฎหมายนี้ยังมีความสำคัญ คือ ไม่เกินอีก 1 ปี 2 เดือน สหภาพยุโรป จะเริ่มบังคับใช้ EU CBAM ในบางสินค้าตั้งแต่ปี 2026-2034 หากไทยยังไม่ผ่านร่างกฎหมายนี้ออกมา เท่ากับว่าสินค้าไทยที่เข้าข่าย ก็ต้องไปเสียภาษีคาร์บอนที่สหภาพยุโรป แทนที่จะเสียให้กับไทย
ขณะเดียวกัน ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 372 ล้านตันคาร์บอน โดยในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตนมีความเป็นห่วงร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ (PDP) ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย อีกทั้ง รัฐบาลไม่มีนโยบายที่สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ ด้านอุตสาหกรรม ด้านเกษตร ด้านสินค้า และอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงไม่มีมาตรการสนับสนุนภาคของเสีย และภาคป่าไม้
อย่างไรก็ตาม สภาวะโลกรวน จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย จึงขอให้ประชาชนติดตามการท่าทีของไทยในประชุม COP 29โดยเฉพาะการเริ่มทำตามแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ของประเทศ 30-40 % การเร่งออก พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายในครึ่งปีแรก 2025 การทบทวนแผน PDPไม่สร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลเพิ่ม การออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมและเกษตร ปรับเปลี่ยนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews