“มาริษ” ยืนยันกรอบ MOU44 เป็นกรอบเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา พร้อมย้ำไม่กระทบเกาะกูดไทย
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงกรณีที่ยังคงมีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง และมีการให้ข่าวสารเกี่ยวกับการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้สังคมมีความสับสน ถึงการเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU44 ว่า MOU44 มีที่มาจากการที่ไทยและกัมพูชา ต่างไม่ยอมรับการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทางทะเลที่แต่ละฝ่ายประกาศทำให้เกิดเป็นพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน
ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศระบุให้ในกรณีเช่นนี้ประเทศที่อ้างสิทธิจะต้องเจรจาทำความตกลงเพื่อหาทางออกด้วยกัน โดยสาระสำคัญของ MOU44 นั้นคือ การกำหนดกรอบและกลไกการเจรจา โดยให้ทั้งประเทศไทย และกัมพูชาต้องตั้งคณะกรรมการทางเทคนิค หรือ Joint Technical Committee: JTC ขึ้น เพื่อทำการเจรจาพร้อมกันไปใน 2 เรื่องทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาแหล่งพลังงาน โดยไม่สามารถแยกการเจรจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กฏหมายระหว่างประเทศวางไว้ ทั้งนี้ การยกเลิก MOU 44ก็ไม่ได้ทำให้เส้นอ้างสิทธิของฝ่ายกัมพูชาหายไปแต่อย่างใด
นายมาริษ ยังอธิบายว่า MOU44 มีลักษณะเป็นข้อตกลงชั่วคราว หรือ Provisional Arrangement ซึ่งเป็นเพียงการตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะวางกรอบและกลไกการเจรจากันเท่านั้น พร้อมย้ำด้วยว่าการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา จะไม่เกี่ยวกับอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูดแต่อย่างใด เพราะเกาะกูดเป็นของไทยที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
นอกจากนั้น MOU44 มีมาตราการป้องกันที่รัดกุม หรือ Safeguard Clause ในข้อ 5 ที่ระบุเป็นเป็นเงื่อนไขบังคับว่า “จนกว่าจะได้มีการตกลงการแบ่งเขตทางทะเลให้แล้วเสร็จ MOUและการดำเนินการต่าง ๆ ตาม MOU นี้ จะไม่มีผลต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละฝ่าย”
ซึ่งเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า การเจรจาตามกรอบ MOU44 นี้ จะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อเขตอำนาจอธิปไตยทางทะเลของแต่ละฝ่าย จนกว่าจะสามารถตกลงกันได้ และมีการจัดทำความตกลงอย่างเป็นทางการอีกครั้งร่วมกัน ซึ่งในกรณีนี้จะต้องนำเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบก่อนด้วยซึ่งหมายถึงว่าความตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนชาวไทย ดังนั้น จึงแปลกใจต่อผู้ที่พยายามโยงเรื่องเกาะกูดเข้ากับการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำว่า ผลประโยชน์ของประเทศไทยในเรื่องนี้ มี 2 ประการ ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูแลทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ การแบ่งเขตทางทะเล และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการพัฒนาทรัพยากรด้านพลังงาน พร้อมยังคงย้ำว่า “เกาะกูด” เป็นของประเทศไทยแน่นอน
เพราะตามหนังสือสนธิสัญญา ระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 23 มีนาคม รศ.125 หรือค.ศ. 1907 บัญญัติชัดเจนว่า “เกาะกูด เป็นของไทย” ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเกาะกูดมาช้านานแล้ว และประเทศไทยได้ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูดมาโดยตลอด มีประชาชนชาวไทยอยู่อาศัยมาเป็นเวลากว่า 100 ปี และกัมพูชาก็ยอมรับ และไม่เคยมีข้อโต้แย่งใด ๆ ในเรื่องนี้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews