“วันนอร์” ตอบรับ ”กมธ.พัฒนาการเมืองฯ“ เชิญหารือ 27 พ.ย. นี้ บอก พร้อมบรรจุทุกร่างหากไม่ขัด รธน.? ขณะสั่งนัดประชุม คกก.จริยธรรม แล้ว คาดนัดแรกก่อนเปิดสมัยประชุมสภาฯ
นายวันมูหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการขอเข้าพบของนายพริษฐ์ วัชระสินธุ สส. พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการพัฒนการเมืองฯ ว่า ตนและผู้เกี่ยวข้องได้ยืนยันการนัดหมายไว้ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้แล้ว ตามที่คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ได้เชิญ เพื่อขอรายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ หากเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ของประธานและรองประธานสภาฯ ตนก็ยินดีจะพบจะได้ทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการให้สัมภาษณ์ไป เท่าที่ทราบ คือ พรรคประชาชนส่งร่างมาเกือบ 10 ฉบับ ส่วนของรัฐบาลที่ส่งมา ตนยังไม่ได้ตรวจสอบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่ร่างไหนที่ส่งมาพิจารณาไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับ สภาก็ยินดีที่จะบรรจุเข้าพิจารณา แต่จะผ่านหรือไม่ก็เป็นไปตามที่ประชุมรัฐสภา เมื่อได้รับร่างการแก้ไขจากทุกภาคส่วนแล้ว ตนจะเชิญวิปสามฝ่ายและผู้แทนรัฐบาบมาพูดคุยก่อนเปิดสมัยประชุม ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ เพื่อจะตรวจสอบจำนวนของกฎหมาย ระยะเวลาการพิจารณา
ทั้งนี้ มีความคาดหวังให้ฝ่ายรัฐบาลสนับสนุนและร่วมมือในการทำงานกับคณะกรรมาธิการอย่างไรบ้าง นายวันมูหมัดนอร์ ระบุว่า ขอให้เป็นไปตามการเชิญของคณะกรรมาธิการ หากเชิญอธิบดี ไม่มา ก็ต้องแจ้งรัฐมนตรี หากรัฐมนตรีไม่มา ก็ต้องแจ้งนายกรัฐมนตรี หรืออาจจะหารือในห้องประชุมใหญ่ เพื่อขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ซึ่งย้ำว่า “สำหรับสภาไม่ต้องห่วง จะพบเมื่อไหร่ก็ได้” ดังนั้น เชื่อว่า เปิดสมัยประชุมหน้า เหลือเวลาประมาณ 2 ปี กฎหมายที่คั่งค้าง ทั้งประชามติ รัฐธรรมนูญ ตนและรองประธานฯ พร้อมให้ความร่วมมือ แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง ซึ่งก็อยากให้หารือไปในทิศทางเดียวกัน จะได้แก้ไขปัญหาให้ประชาชน
นอกจากนี้ ประธานสภาฯ กล่าวถึง กรณีการพิจารณาคำร้องสอบจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาว่า ขณะนี้มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และได้สั่งการให้นัดประชุมแล้ว เนื่องจากองค์ประชุมครบแล้ว โดยคณะกรรมการจริยธรรมจะพิจารณาการสอบออกเป็น 2 ส่วนคือจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภา โดยในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรมีหลายเรื่อง ที่ประชุมก็ต้องตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา เพราะหลายเรื่องคณะกรรมการพิจารณาไม่ทัน จึงจำเป็นต้องแยกและดูว่าต้องมีคณะอนุกรรมการกี่คณะ คาดว่า จะพิจารณาได้ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาฯ
ขณะเดียวกัน นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาหลายเรื่อง บางเรื่องคนร้องก็ไม่รอแล้ว จึงไปร้องต่อ ป.ป.ช.และหน่วยงานอิสระอื่นไปแล้ว โดยปกติหากไปร้องที่อื่นแล้วทางคณะกรรมการจริยธรรมจะรอให้การพิจารณาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้แล้วเสร็จก่อน เพราะหากพิจารณาพร้อมกัน อาจมีความขัดแย้งต่อการปฏิบัติ ไม่ได้ขัดแย้งอะไร บางเรื่องที่เป็นเรื่องจริยธรรมตอนนี้ ป.ป.ช. ก็เปิดกว้าง ร้องที่ ป.ป.ช.โดยตรงได้เลย ก็ไม่ต้องผ่านอนุกรรมการของจริยธรรมรัฐสภา ไม่ต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ของสภา ถ้าร้ายแรงของเราก็เข้าที่ประชุมใหญ่ แต่ ป.ป.ช.เขาใช้แค่อนุกรรมการ และกรรม ป.ป.ช. ถ้าเห็นเรื่องร้ายแรง เขาจะส่งไปที่ศาลฎีกาเลย แล้วแต่คดีการเมืองหรือคดีทุจริตอันนั้นเร็วกว่าจริยธรรม แล้วแต่สมาชิกและพี่น้องประชาชนต้องการเพราะการยื่นมีประตูหลายประตู แต่จะเข้าด้านไหน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews