กกต.รอสอบยุบ พท.-ทนายตั้มยังไม่หลุดสำรองสว.
“เลขา กกต.” เผย คำร้อง “นายกฯ-เพื่อไทย” อยู่ระหว่างรวบรวมพยาน ชี้ ให้โอกาสทุกฝ่าย บอกคุณสมบัติ “ทนายตั้ม” ยังครบเป็นตัวสำรองสว.ได้ ขณะ “สว.หมอเกศ” ใกล้พิจารณาแล้ว
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และคำร้องให้มีการยุบพรรคเพื่อไทยว่า อยู่ในกระบวนการ เมื่อพูดถึงความยุติธรรมก็มีขั้นตอนในการให้โอกาสคนมาชี้แจง ซึ่งในชั้นนี้ก็อยู่ในชั้นรวบรวมพยานหลักฐาน ที่ต้องสอบให้ครบจนสิ้นกระแสความ และให้โอกาสทั้งสองฝ่าย ตนไม่อาจจะบอกได้ว่าต้องใช้เวลากี่วัน เพราะตั้งแต่ตั้งคณะกรรมการสอบขึ้นมา ก็ยังไม่ได้มีการรายงานเพื่อขอขยายเวลา
ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริงความคืบหน้าคุณสมบัติของนายษิทธา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ในฐานะตัวสำรองสมาชิกวุฒิสภา ลำดับที่ 4 ของกลุ่มที่ 17 ว่า อยู่ในกระบวนการเมื่อมีคนร้องในเรื่องลักษณะต้องห้ามความเป็นสมาชิกวุฒิสภา ถ้าดูจากข่าวก็ต้องดูเรื่องเงื่อนเวลา เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อกฎหมายถือว่า ยังมีคุณสมบัติ และยังอยู่ในบัญชีสำรองเป็นผู้มีคุณสมบัติ และยังไม่มีลักษณะต้องห้าม จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ไม่ว่าศาลชั้นไหนก็แล้วแต่
สำหรับความคืบหน้ากรณีคุณสมบัติของนางสาวเกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา นายแสวง กล่าวว่า สำนักงานได้เสนอให้ กกต. พิจารณาแล้ว ซึ่งในการพิจารณามีคำร้องอยู่หลายข้อกล่าวหาสำนักงานได้มีการแยกข้อกล่าวหาเพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น โดยแยกไปคณะกรรมการสอบสวนหลายคณะ และเมื่อถึงขั้นตอนการพิจารณาต้องมาพร้อมกันทุกสำนวน ซึ่งขณะนี้ กกต.ได้เร่งนำขึ้นมาพิจารณา ภายในสิ้นเดือนนี้
ส่วนคำร้องที่นายเรืองไกร วิกิจวัฒนะ ยื่นให้มีการตรวจสอบความเหมาะสมกรณีนายกรัฐมนตรีทำท่าชูมือมินิฮาร์ท ในระหว่างการถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นั้น นายแสวง กล่าวว่า เมื่อมีการร้องเข้ามา กกต. ก็จะต้องนำมาพิจารณาดูก่อน ซึ่งกรณีคำร้องของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีการมาร้องเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองกฎหมายเลือกตั้ง มีจำนวนมากทาง กกต. อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องพวกนี้แต่ถ้าจะมาร้องควรมีข้อมูลให้มากกว่านี้ ไม่ใช่เป็นการตั้งคำถาม ส่วนมากคำร้องทุกเรื่องเป็นการตั้งคำถาม
ซึ่งเป็นคำร้องที่อาจจะหลบเลี่ยงการฟ้องร้องกลับ แต่สำนักงานก็ไม่เคยทิ้ง แต่ก็ต้องทำงานเข้มงวดขึ้น ซึ่งในส่วนของรูปแบบของคำร้องอยากให้ผู้ร้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่ามีหรือไม่ ผิดกฎหมายมาตราใด ไม่ใช่ว่าผิดหรือไม่
พร้อมกันนี้ นายแสวง ยังกล่าวถึงการร่วมประชุม กับคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า ได้มีการนัดหมายในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้หากตนไม่ติดภารกิจใด ก็จะเข้าร่วม ให้ข้อมูลกับทางกรรมาธิการ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews