นิด้าโพล โควิดทำผู้สูงวัยหลายอาชีพรายได้ลด
นิด้าโพล โควิดทำผู้สูงวัยหลายอาชีพรายได้ลด มองมาตรการคุมโควิดของรัฐบาลเหมาะสมแล้ว
“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปจำนวน 1,314 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง “ผู้สูงวัยไทย เผชิญภัยกับ โรคระบาด COVID-19 อย่างไร?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12 และ 18 – 20 มีนาคม 2564 เมื่อถามถึงเรื่องที่รับรู้หรือเคยได้ยินเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 พบว่า ผู้สูงวัย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.50 ระบุว่า สวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า/ถุงมือ รองลงมา ร้อยละ 79.98 ระบุว่า ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่/เจลแอลกอฮอล์/น้ำยาฆ่าเชื้อ ร้อยละ 53.21 ระบุว่า เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร
สำหรับช่องทางการรับรู้วิธีการหลีกเลี่ยง/ป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 พบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.37 ระบุว่าเป็น โทรทัศน์ รองลงมา ร้อยละ 27.93 ระบุว่าเป็น สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Line ร้อยละ 26.03 ระบุว่าเป็น อสม. หรือ อาสาสมัครในชุมชน ร้อยละ 23.97 ระบุว่าเป็น โทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 14.08 ระบุว่าเป็น ญาติ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนในชุมชน
ส่วนการสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าเมื่อออกนอกบ้านระหว่างการแพร่ระบาด COVID-19 พบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.07 ระบุว่า ใส่ทุกครั้ง ขณะที่ ร้อยละ 6.55 ระบุว่า ใส่เป็นบางครั้ง
ด้านระดับความกังวลหรือความเครียดในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว (ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563) ซึ่งมีการประกาศ พรก. ฉุกเฉิน และการ lockdown) พบว่า ผู้สูงวัย ร้อยละ 21.46 ระบุว่า มีความกังวลหรือความเครียดน้อยที่สุด (1 – 2 คะแนน) ร้อยละ 6.40 ระบุว่า มีความกังวลหรือความเครียดน้อย (3 – 4 คะแนน) ร้อยละ 27.85 ระบุว่า มีความกังวลหรือความเครียดปานกลาง (5 – 6 คะแนน)
สำหรับระดับความกังวลหรือความเครียดในช่วงการระบาดของ COVID-19 ครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึง 20 มีนาคม 2564 (ระหว่าง เดือนธันวาคม 2563 – 20 มีนาคม 2564) พบว่า ผู้สูงวัย ร้อยละ 26.41 ระบุว่า มีความกังวลหรือความเครียดน้อยที่สุด (1 – 2 คะแนน) ร้อยละ 9.82 ระบุว่า มีความกังวลหรือความเครียดน้อย (3 – 4 คะแนน) ร้อยละ 32.88 ระบุว่า มีความกังวลหรือความเครียดปานกลาง (5 – 6 คะแนน)
เมื่อพิจารณาด้านผลกระทบต่อการทำงานจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่เกิดการระบาดในรอบแรก ของผู้สูงวัยที่ประกอบอาชีพหลัก/เคยประกอบอาชีพหลัก ดังนี้
1. ผู้สูงวัยที่เป็นเกษตรกร/ประมง พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.97 ระบุว่า วัน เวลา ทำงาน/รายได้ลดลง รองลงมา ร้อยละ 38.29 ระบุว่า ไม่มีเปลี่ยนแปลงวัน เวลาทำงาน/รายได้ที่ได้รับ และร้อยละ 0.74 ระบุว่า วัน เวลาทำงาน/รายได้เพิ่มขึ้น
2. ผู้สูงวัยที่เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.01 ระบุว่า วัน เวลา ทำงาน/รายได้ลดลง รองลงมา ร้อยละ 12.42 ระบุว่า ไม่มีเปลี่ยนแปลงวัน เวลา ทำงาน/รายได้ที่ได้รับ ร้อยละ 3.59 ระบุว่า ตกงาน/ว่างงาน และร้อยละ 0.98 ระบุว่า วัน เวลา ทำงาน/รายได้เพิ่มขึ้น
3. ผู้สูงวัยที่ทำงานที่มีนายจ้าง (พนักงานเอกชน/รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.89 ระบุว่า วัน เวลา ทำงาน/รายได้ลดลง รองลงมา ร้อยละ 27.99 ระบุว่า ไม่มีเปลี่ยนแปลงวัน เวลา ทำงาน/รายได้ที่ได้รับ ร้อยละ 4.44 ระบุว่า ตกงาน/ว่างงาน และร้อยละ 0.68 ระบุว่า วัน เวลา ทำงาน/รายได้เพิ่มขึ้น
4. ผู้สูงวัยที่เป็นข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.13 ระบุว่า ไม่มีเปลี่ยนแปลงวัน เวลา ทำงาน/รายได้ที่ได้รับ ในขณะที่ ร้อยละ 12.87 ระบุว่า วัน เวลา ทำงาน/รายได้ลดลง
5. ผู้สูงวัยที่เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ พบว่า ร้อยละ 100.00 ระบุว่า ไม่มีเปลี่ยนแปลงวัน เวลาทำงาน/รายได้ที่ได้รับ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้สูงวัยไทยต่อมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ของรัฐ พบว่า ผู้สูงวัย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.04 ระบุว่า เหมาะสมแล้ว รองลงมา ร้อยละ 14.23 ระบุว่า ยังเข้มงวดไม่เพียงพอ ร้อยละ 3.27 ระบุว่า เข้มงวดมากเกินไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news