Home
|
ข่าว

กต.แจงประชาชนเข้าชื่อกันไม่สามารถยกเลิกMOU44 ได้

Featured Image
กต.แจงประชาชนเข้าชื่อกัน ไม่สามารถยกเลิก MOU44 ได้ แจงการฉีก MOU จะยิ่งส่งผลเสียต่อเรื่องอธิปไตย-บั่นทอนความน่าเชื่อถือประเทศ

 

 

 

นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงทำความเข้าใจถึงกรณีที่มีผู้เข้าชื่อกัน เพื่อขอให้ยกเลิก “บันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ปี 2544” หรือ “MOU 44” ซึ่งเป็นกรอบ และกลไกการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชาว่า MOU44 ถือเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีระเบียบ หรือกฎหมายภายในใดที่ระบุให้สามารถเข้าชื่อกัน เพื่อขอให้ยกเลิกได้ ดังนั้น หากผู้ใดต้องการให้ยกเลิก MOU44 จะต้องสนับสนุนเลือกพรรคการเมือง ที่มีนโยบายยกเลิก MOU 44 ให้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล ตามผลการเลือกตั้งทั่วไป และตามวิถีทางประชาธิปไตย

 

 

 

ทั้งนี้ การยกเลิก MOU44 อาจทำได้ด้วยการบอกเลิกโดยรัฐบาลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หากฝ่ายอีกหนึ่งไม่ยอมรับ ก็ยังถือว่ามีผลอยู่ และคู่ภาคียังคงต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่เกี่ยวข้อง หากไม่ปฏิบัติตามจะเป็นการละเมิด ซึ่งอาจนำไปสู่การฟ้องร้องในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งต่อประชาคมโลกได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศที่บอกเลิกตามลำพัง เสื่อมเสียความน่าเชื่อถือไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาใด ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตกับประเทศต่างๆ ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ฯลฯ ที่จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศด้วย

 

 

นายรัศม์ ยังย้ำว่า การยกเลิก MOU44 ไม่ได้ทำให้ปัญหาที่มีอยู่หายไปแต่อย่างใด และเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชาก็ยังคงอยู่ดังเดิม ที่นับวันจะยิ่งสุ่มเสี่ยงสร้างปัญหาในเรื่องอธิปไตยยิ่งขึ้นด้วย หากไม่มีการเจรจาเกิดขึ้น รวมทั้งไม่สามารถนำทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลใต้ผืนน้ำมาใช้ได้ หากไม่มีการเจรจาตกลงกันก่อน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น การยกเลิก MOU44 จึงย่อมนำซึ่งผลเสียมากกว่า

 

 

 

พร้อมยังย้ำว่า รัฐบาลชุดนี้ เห็นพ้องตามหลายรัฐบาลก่อนหน้านี้ ในการดำเนินการตาม MOU44 ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ ทั้งในเรื่องอธิปไตย และการยกระดับสร้างความกินดีอยู่ดีเจริญรุ่งเรือง แก่ประชาชนชาวไทยทั้งปวง ซึ่งแม้จะมีบางรัฐบาลมีแนวคิดให้ศึกษาการยกเลิก MOU ในหลักการ แต่เมื่อการศึกษาพบว่า MOU44 มีข้อดีมากกว่า

 

 

ต่อมาในคณะรัฐมนตรีชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีมติให้คง MOU44 ไว้ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดผลการเจรจาตาม MOU44 จะต้องได้การยอมรับจากประชาชนผ่านกระบวนการเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของใครเพียงบางคน แต่เป็นเรื่องของประชาชนทั้งประเทศ ผ่านทางตัวแทนตามระบอบประชาธิปไตย

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube