“พริษฐ์” หารือ “ประธานสภาฯ” ย้ำทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ เสนอเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ด้าน “วันนอร์” ให้ยื่นร่างแก้ไข รธน. เพิ่มหมวด ส.ส.ร. เข้ามาใหม่อีกครั้ง
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการร่วมหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า วันนี้เป็นการประชุมหารือกันระหว่างคณะกรรมการธิการฯ และประธานรัฐสภาเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยข้อถกเถียงหลักอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการนี้ คือ เรื่องจำนวนในการทำประชามติ ในส่วนของกฎหมาย หรือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดไว้ให้ต้องทำอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งนั้น มาถึงวันนี้ ความเห็นต่างในการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ก็ยังคงมีอยู่
แต่เรามีข้อมูลเพิ่มเติม 2 อย่าง ที่ได้พูดคุยกับประธานสภาและทีมในวันนี้ คือ 1.หากดูตามความเห็นส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ประกอบคำวินิจฉัย ที่ 4/2564 นั้น จะเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจน ว่า การทำประชามติ 2 ครั้งนั้น เพียงพอแล้ว และ 2.คือข้อมูลที่มาจากการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
เมื่อได้นำข้อมูล 2 ชุดนี้ หารือกับประธานสภาฯ ได้ข้อสรุปว่า หากจะให้คณะกรรมการประสานงานมีการวินิจฉัยเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง จะต้องมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาเพิ่มหมวด 15/1 เกี่ยวกับการมีสภาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่สภาอีกรอบหนึ่ง
หลังจากนี้ ตนจะไปหารือกับ สส.พรรคประชาชน เพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการประสานงาน มีโอกาสในการวินิจฉัยอีกครั้งว่า ตกลงแล้วจำเป็นจะต้องมี การทำประชามติเพิ่มขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 หรือสามารถทำ 2 ครั้งเพียงพอ และเรามีความหวังว่า ข้อมูลใหม่ที่ได้นำมาในวันนี้ จะเพียงพอในการทำให้คณะกรรมการประสานงานวินิจฉัยว่า 2 ครั้งเพียงพอ
หลังจากนี้ ตนจะไปหารือกับ สส.พรรคประชาชน เพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการประสานงาน มีโอกาสในการวินิจฉัยอีกครั้งว่า ตกลงแล้วจำเป็นจะต้องมีการทำประชามติเพิ่มขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 หรือสามารถทำ 2 ครั้งเพียงพอ และเรามีความหวังว่า ข้อมูลใหม่ที่ได้นำมาในวันนี้ จะเพียงพอในการทำให้คณะกรรมการประสานงานวินิจฉัยว่า 2 ครั้งเพียงพอ
ทั้งนี้ วันนี้ตนเองสวมหมวก 2 ใบ เป็น สส.ของพรรคประชาชน ซึ่งเป็นแกนนำของฝ่ายค้าน ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นจริง รวมถึงในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ด้วย จึงพยายามทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และอยากเห็นรัฐบาลมาร่วมมือกัน
ส่วนประธานสภาฯ ได้มีการระบุถึงการประชุมร่วมกันของวิป 3 ฝ่ายหรือไม่นั้น นายพริษฐ์ ชี้แจงว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขรายมาตรา ซึ่งถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้วเป็นหน้าที่ของวิป 3 ฝ่ายที่ต้องหารือกันว่า จะมีการประชุมในวันไหน และจะนำร่างไหนเข้าก่อนหรือหลัง แต่เรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ สสร. ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เพราะต้องให้ประธานสภาบรรจุก่อน วันนี้เราจึงอยากให้มีการทบทวนใหม่
สำหรับกรณีที่พรรคประชาชนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปใหม่ จะเป็นร่างเดิมหรือไม่นั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า คงต้องมีการหารือกันก่อน แต่เวลานี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปรับจากร่างเดิม สำหรับเหตุผลของประธานสภาที่ทำให้ต้องมีการยื่นใหม่ ทั้งที่มีร่างเดิมค้างอยู่ 2 ฉบับนั้น เป็นเพราะมีการวินิจฉัยไปแล้วเกี่ยวกับร่างนั้นว่า “ไม่บรรจุ” ดังนั้น เรื่องนั้นถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว แม้จะมีข้อมูลใหม่ที่ได้มา ก็ไม่สามารถเปลี่ยนคำวินิจฉัยได้
ด้านว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเสริมว่า ตนเองในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน และเสนอความเห็นต่อประธานสภาก็ได้รับข้อมูลใหม่ให้คณะกรรมการนำไปทบทวน หากมีการเสนอร่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมได้ส่งมอบความเห็นเพิ่มเติมที่ได้รับจากศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาจึงมีดำริว่าให้คณะกรรมการนำข้อมูลส่วนนี้ไปประกอบคำวินิจฉัยเดิม ส่วนจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างเดิมได้หรือไม่นั้น แล้วแต่ท่านผู้เสนอ
ขณะประธานสภาฯ ให้เหตุผลอะไร ทำให้ความเห็นของฝ่ายกฎหมายของสภา มีน้ำหนักมากกว่าความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่บอกว่าให้ทำประชามติ 2 ครั้งว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ ระบุว่า ประธานสภาฯ เพียงมอบโจทย์ใหม่จากข้อมูลที่เปลี่ยนไปให้เป็นดุลย์พินิจของคณะกรรมการแต่ละคน ซึ่งมีทั้งผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่นำมาพิจารณา
คณะกรรมการดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 10 กว่าคนที่เสนอความเห็นมา มีรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีมาตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการมีหน้าที่เพียงให้ความเห็นประกอบ แต่ผู้ใช้ดุลยพินิจคือประธานสภา และส่วนใหญ่ท่านจะ มีความเห็นคล้อยตามที่คณะกรรมการเสนอไปเป็นส่วนมาก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews