ส่งออกอัญมณีฯ-ทองคำ ต.ค.67 พุ่ง 88.14%
ส่งออกอัญมณีฯ-ทองคำ ต.ค.67 พุ่ง 88.14% หลังราคาทองทำนิวไฮใหม่อีกครั้ง คาด 2 เดือนสุดท้ายของปี ยังดีต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจฟื้น คนเริ่มมีกำลังซื้อ
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เดือน ต.ค.2567 มีมูลค่า 735.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.77% กลับมาติดลบ 2 เดือนติดต่อกัน และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 2,966.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น 88.14% ส่วนยอดรวม 10 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,788.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.35% หากรวมทองคำ มูลค่า 15,415.07ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.32%
สำหรับการส่งออกทองคำเดือน ต.ค.2567 มูลค่าสูงถึง 2,231.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 169.31% เนื่องจากราคาทองคำในเดือน ต.ค. ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2,777.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความกังวลในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคุกรุ่น ทำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการเก็งกำไรทองคำอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับกองทุนทองคำ SPDR ที่มีการซื้อทองคำต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนยอดรวม 10 เดือน ส่งออกทองคำมีมูลค่า 7,626.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 43.53%
ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เพิ่ม 7.51% สหรัฐฯ เพิ่ม 13.71% อินเดีย เพิ่ม 33.27% เยอรมนี เพิ่ม 13.29% อิตาลี เพิ่ม 3.59% เบลเยี่ยม เพิ่ม 25.55%ญี่ปุ่น เพิ่ม 3.78% ส่วนสหราชอาณาจักร ลด 6.87% สวิตเซอร์แลนด์ ลด 6.52% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 10.89%
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วง 2 เดือนที่เหลือ คาดว่า จะยังคงขยายตัวได้ดี เพราะขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน และอัตราว่างงานลดลง อัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายลดลง ทำให้ลดภาระครัวเรือน ส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและกล้าใช้จ่ายมากขึ้น และช่วงเดือน ธ.ค. ยังเป็นช่วงคริสมาสต์และส่งท้ายปีเก่า เป็นช่วงที่มีการใช้จ่าย ซื้อสินค้ามากกว่าปกติ โดยอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นหนึ่งในสินค้าที่ซื้อเป็นของฝากของขวัญ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านของผู้นำสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง จากแนวนโยบายการใช้มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อกดดันประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในลำดับต้นๆอย่างจีน แคนาดา เม็กซิโก และเวียดนาม ทั้งยังอาจขยายไปยังลำดับรองลงมา เช่น ไทย ที่ต้องเฝ้าระวัง ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังไม่คลี่คลาย ก็เป็นปัจจัยกระทบต่อการส่งออกในบางประเทศได้
นอกจากนี้ GIT มีข้อแนะนำให้ผู้ประกอบการ หันมาผลิตเครื่องประดับอัจฉริยะหรือสมาร์ทจิวเวลรี เพราะทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราก้าวกระโดด โดยล่าสุดบริษัทที่เป็นแบรนด์เครื่องประดับและแบรนด์เทคโนโลยีขยายไลน์สินค้าเข้าสู่ตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น เช่น ซัมซุงเปิดตัว Galaxy Ring ที่สามารถตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วิเคราะห์การนอนหลับ
ซึ่งตัวแหวนผลิตจากไทเทเนียม หรือแบรนด์เครื่องประดับอื่น ๆ ที่ผลิตเป็นสร้อยคอ หรือสร้อยข้อมือ ผสมผสานเข้ากับการตรวจจับสุขภาพหรือเพื่อความปลอดภัย ซึ่งแนวโน้มเครื่องประดับรูปแบบนี้ ตอบโจทย์ทั้งความสวยงามแบบเครื่องประดับและเทคโนโลยีที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งฝั่งสหรัฐ ยุโรป หรือเอเชีย ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบการในการเจาะตลาดด้วยการ ผสมผสานความงามของเครื่องประดับและเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการใช้และสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคได้อย่างลงตัว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews