หอการค้า ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ
หอการค้า ย้ำจุดยืน ไม่เห็นด้วยปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ควรยึดมติไตรภาคี ปรับตามความสามารถแต่ละอาชีพ
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นด้วยกับการกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังคง
มีความผันผวนและเปราะบาง อันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศและภาคธุรกิจ
ดังนั้น หอการค้าไทย โดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ขอแสดงจุดยืนและข้อเสนอแนะต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศให้รัฐบาลพิจารณา ดังนี้
1.หอการค้าฯ ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เพราะการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องคำนึงถึงมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งเป็นการปรับตามตัวเลขที่เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม (The Rule of Law)
2.หอการค้าฯ มีความคิดเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อย่างเคร่งครัด สอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการยอมรับมาโดยตลอดจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)
3.หอการค้าฯ มีความคิดเห็นว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะปรับเมื่อมีเหตุจำเป็น และปัจจัยทางเศรษฐกิจบ่งชี้แต่ไม่ควรเกินปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
4.หอการค้าฯ สนับสนุนการจ่ายอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill , Multi-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
5.หอการค้าฯ สนับสนุนให้เร่งรัดการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือให้ครบตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติซึ่ง 280 สาขา จากปัจจุบันที่มีการประกาศไว้เพียง 129 สาขา พร้อมทั้งให้มีการขยายสาขาอาชีพ มาตรฐานฝีมือรวมทั้งอัตราค่าจ้างตามารฐานฝีมือให้ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับแรงงานไทย
6.หอการค้าฯ ขอให้รัฐบาลมีมาตรการดูแลค่าครองชีพเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนเร่งรัดมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมมาตรการทางภาษี มาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม มาตรการส่งเสริมการปรับปรุงเครื่องมือและเครื่องจักร มาตรการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ เพื่อลดผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
นายพจน์ ยังย้ำด้วยว่า การดำเนินนโยบายปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมภายใต้กรอบกฎหมาย และตามมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ที่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงจากพื้นที่จังหวัด อันเป็นการไม่ลิดรอนสิทธิตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และสร้างความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews