กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากสวนส้มโอปากพนัง คาด 3-4 วันเป็นปกติ สทนช.ลดการระบายน้ำเขื่อนบางลาง ลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำปัตตานี ด้าน“บิ๊กอ้วน” สั่งการเร่งฟื้นฟูน้ำท่วมใต้ เร่งโอนเงินเยียวยาถึงมือผู้ประสบภัยรอบแรกก่อนปีใหม่นี้
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ได้ติดตามการช่วยเหลือชาวสวนส้มโอทับทิมสยาม อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราชที่ถูกน้ำท่วม
พร้อมสั่งการให้สูบน้ำออกจากสวนส้มโอทับทิมสยาม เร่งช่วยเหลือชาวสวนส้มโอโดยเร็วที่สุดโดยปัจจุบันกรมชลประทานระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ปลูกส้มโอได้ประมาณวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คาดในช่วง 3-4 วันจะกลับสู่ภาวะปกติหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ระยะนี้ ภาคใต้ปริมาณฝนน้อย ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ภาพรวมคลี่คลาย แต่ลุ่มน้ำภาคใต้ตอนล่าง ยังมีน้ำสูงกว่าตลิ่งที่สถานีวัดน้ำ X 275 บ้านบริดอ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี
ล่าสุด คณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง มีมติลดการระบายน้ำจากเขื่อนบางลางหลังฝนลดลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนพื้นที่ท้ายเขื่อนริมแม่น้ำปัตตานีที่ยังมีน้ำท่วมขัง และพร่องน้ำเพิ่มพื้นที่กักเก็บของเขื่อนบางลางไว้รองรับปริมาณฝนที่จะตกบริเวณภาคใต้ตอนล่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนราวเดือนกุมภาพันธ์ 2568
โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง มีมติทยอยปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนบางลางแบบขั้นบันได จากวันเดิมระบายอยู่ที่วันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นวันละ 14 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันนี้ (21 ธ.ค.) จากนั้นวันที่ 25 ธันวาคม 2567 จะระบายวันละ 12 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 26 ธันวาคม ระบายน้ำวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. และตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมเป็นต้นไป ระบายน้ำวันละ 8 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการบริหารจัดการน้ำแบบนี้ จะช่วยลดความเดือดร้อนของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำ โดยเฉพาะที่บ้านบริดอ อ.เมืองปัตตานี ที่น้ำยังสูงกว่าตลิ่งมาก” น.ส
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ผอ.ศปช. ยังกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอและจังหวัด เร่งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลการขอรับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีให้เร็วที่สุด หลังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีผู้ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ในระบบออนไลน์) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 ครัวเรือนละ 9,000 บาท จำนวน 815,229 ครัวเรือน ใน 16 จังหวัด (ข้อมูล 20 ธ.ค. 67 เวลา 16.30 น.) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบและส่งข้อมูลมาให้ ปภ.เบื้องต้น 1,978 ครัวเรือน คาดว่าจะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยรอบแรกได้ก่อนปีใหม่นี้
นอกจากนี้ ผอ.ศปช. ได้เร่งท้องถิ่นให้ตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือฯ ตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ให้ถูกต้อง ไม่ให้มีการลงทะเบียนซ้ำซ้อน และขอให้ประชาชนตรวจสอบเลขบัญชีว่าได้มีการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชนแล้วหรือไม่ หากยังไม่ได้ดำเนินการ ขอให้รีบติดต่อธนาคารทันที จะได้ไม่มีปัญหาในการโอนเงิน ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ให้นำเอกสารหลักฐานมาดำเนินการได้ 2 ช่องทาง ทั้งแบบ Onsite ยื่นด้วยตนเอง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย และแบบ Online ผ่านเว็บไซต์ https://flood67.disaster.go.th เพื่อรับเงินช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว
สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ใน 11 จังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 94,206 ราย พื้นที่คาดว่าเสียหาย 203,086 ไร่ ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับช่วยเหลือต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย จะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็นข้าวไร่ละ 1,340 บาท
พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล-ไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท โดยการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านพืช เกษตรกรจะยื่นเอกสารเพียงครั้งเดียว ภายใน 10 วันทำการหลังได้รับการอนุมัติ ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews