Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

อิ๊งค์ แจกแหลก ดันศก.ปี68

ขึ้นชื่อว่า “เศรษฐกิจ” ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของนายกรัฐมนตรี ที่จะขับเคลื่อนผลักดันให้เติบโต เพราะนี่คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะสะท้อนถึง “ฝีมือ” ในการบริหารประเทศ

 

 

 

ตลอดปี 2567 รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย โดยมีเป้าหมายใหญ่คือ “จีดีพี” ที่เชื่อมโยงกับปากท้องของประชาชน ชัดเจนสุดกับนโยบายแจกเงินหมื่นเฟส 1 ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 14.55 ล้านคน งบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท ถัดมาเฟส 2 ให้กับผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 3.2 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ใช้งบประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท และจะเร่งจ่ายในเดือนมกราคม 2568 ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ ส่วนเฟส 3 รัฐบาลยืนยันเป็นไปตามโรดแมป

 

 

 

ทั้งนี้ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ได้คุยกับ “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการอิสระ และอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร”ในปี 2568 โดย “ศ.ดร.พรายพล” กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีความท้าทายมาก เพราะมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เนื่องมาจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ที่อาจจะสร้างกังวลให้กับหลายๆประเทศ

 

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวได้ 3% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตตามศักยภาพปกติ แต่อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่ายที่ต้องการให้ขยายตัวมากกว่านี้ พร้อมมองว่า นโยบายประชานิยมของรัฐบาลในรูปแบบของการแจกเงิน ก็จะมีการแจกกันแหลกเพื่อที่จะรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวในระดับสูงต่อไป

 

 

ขณะที่ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า สำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตเติบต่อเนื่องเฉลี่ย 3.1% ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ โดยเฉพาะการเดินหน้านโยบายการค้าสหรัฐฯ ในยุค TRUMP 2.0 ผ่านการปรับเพิ่มภาษีน้ำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ทำให้มีความเสี่ยง TRADE WAR ระลอกใหม่ และสำหรับเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย มองยังขับเคลื่อนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งยังต้องการแรง กระตุ้นทั้งในส่วนของนโยบายการคลังที่เข้มข้น และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น

 

 

 

ขณะที่ทางฝั่งนโยบายการคลังยังเห็นมาตรการกระตุ้นเรื่อยๆ ผ่านการรวบรวมข้อมูล ของฝ่ายวิจัยฯ ที่ว่ารัฐบาลเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้-รายจ่ายต่อ GDP พบว่าในปี 2567 สัดส่วนรายได้สุทธิหลังหักการจัดสรรต่อGDP อยู่ที่ 15.1% ส่วนสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายต่อGDP อยู่ที่ 18.9% ซึ่งปี 2568 ตัวเลขยังสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 19.8% ตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้ ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2568 มีการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 8.7 แสนล้านบาท

 

 

ซึ่งตามมาด้วยการอนุมัติ EASY E-RECEIPT, แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 และการเติมเม็ดเงินให้ชาวนาไร่ละ 1000 บาท ทำให้ของขวัญปีใหม่จากกระทรวงการคลัง ในช่วงเดือน ธ.ค. 67 – ก.พ. 68 รวม 3 โครงการมีเม็ดเงินอีดฉัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 1.45 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.81% ของ GDP

 

 

อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะข้างหน้า อาจทำให้การคลังของ ไทยเผชิญกับความท้าทาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรอบงบประมาณรายจ่ายที่มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นต่อเนื่องท่ามกลาง GDP GROWTH ขยายตัวไม่สูงมาก เสี่ยงดันหนี้ สาธารณะต่อ GDP ปริ่มเพดาน 70% ในระยะถัดๆไป จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” อย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขยับ ทุกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ย่อมส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube