เงินเฟ้อ ธ.ค.โต 1.23% ทั้งปี67 ขยายตัว 0.4%
เงินเฟ้อ ธ.ค.โต1.23% ทั้งปี67ขยายตัว 0.4% คาดปี68 โตตามเศรษฐกิจ รอประเมินผลกระทบปรับค่าแรงอีกครั้ง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนธันวาคม 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.23 โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ยทั้งปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.00 ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.26
และสำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์ว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 0.3-1.3 ค่ากลางร้อยละ 0.8 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567
ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น และ ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567
ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG ฐานราคาผักและผลไม้สด ปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สนค. จะมีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอัตราเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง แต่ในเบื้องต้นการปรับขึ้นของค่าแรงล่าสุดนั้นไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยยสำคัญ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews