Home
|
ข่าว

สนค. ชี้ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลต่อเงินเฟ้อปี68 ไม่มาก

Featured Image

 

 

สนค. ชี้ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลต่อเงินเฟ้อปี68ไม่มาก คาดเงินเฟ้อยังโตในช่วง 0.3 – 1.3% ได้

 

 

 

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการวิเคราะห์ “ผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป” หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ที่แบ่งเป็น 17 อัตรา เพิ่มในอัตราวันละ 7 – 55 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.9)

 

โดยมีอัตราสูงสุด คือ วันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุด คือ วันละ 337 บาท พบว่า จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 0.15 – 0.30 และทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะยังอยู่ในช่วงร้อยละ 0.3 – 1.3 (ค่ากลางร้อยละ 0.8) ตามที่ สนค. ได้คาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2567

 

สนค.ได้ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบโดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และข้อมูลจำนวนผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งประมวลข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงแรงงาน รวมทั้งความสอดคล้องกับโครงสร้างของหมวดสินค้าและบริการของดัชนีราคาผู้บริโภค

 

ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ 6 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 สินค้าและบริการที่มีการกำกับดูแลโดยภาครัฐ คิดเป็นประมาณร้อยละ 22.0 ของน้ำหนักสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อ กลุ่มที่ 2 สินค้าและบริการที่มีการผลิตในระบบอุตสาหกรรม และเป็นสินค้าที่มีการใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ คิดเป็นร้อยละ 25.0

 

กลุ่มที่ 3 สินค้าที่มีการใช้แรงงานสูงแต่การส่งผ่านราคาสู่ผู้บริโภคไม่มากนัก คิดเป็นประมาณร้อยละ 22.0 กลุ่มที่ 4 สินค้าและบริการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คิดเป็นประมาณร้อยละ 16.0 กลุ่มที่ 5 ค่าเช่าบ้านและที่พักอาศัย คิดเป็นประมาณร้อยละ 14.0 และกลุ่มที่ 6 ค่าบริการที่มีการใช้แรงงานมีฝีมือหรือทักษะสูง คิดเป็นประมาณร้อยละ 1.0

 

อย่างไรก็ตาม การจัดกลุ่มสินค้าและบริการออกเป็น 6 กลุ่มตามผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามสถานการณ์ของแต่ละกลุ่มได้อย่างใกล้ชิด และมีการดำเนินนโยบายในการดูแลการเปลี่ยนแปลงราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานที่ให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค นอกจากนี้ คาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อค่อนข้างน้อย

 

เนื่องจากปัจจัยด้านมาตรการช่วยเหลือลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ และลดภาระหนี้สินครัวเรือน ทำให้การจับจ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้และกำไรสุทธิของผู้ประกอบการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube