กมธ.เด็กฯ เตรียมเช็คความพร้อมจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
กมธ.เด็ก เตรียมเชิญหลายหน่วยงาน เช็คความพร้อมจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ
คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุมโดยเชิญตัวแทนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, กรุงเทพมหานคร, และกระทรวงยุติธรรม หารือเกี่ยวกับความพร้อมในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ในวันที่ 23 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันแรกที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีผลบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศ
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกรรมาธิการกิจการเด็กฯ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนจากกรุงเทพมหานครได้รายงานถึงการเตรียมความพร้อมในช่วงที่ผ่านมา การทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการสื่อสารต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ บทบัญญัติกฎหมายที่เปลี่ยนแปลง และคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศอีกต่อไป
แต่มีการเปลี่ยนแปลงอายุจาก 17 ปี เป็น 18 ปี รวมถึงการเตรียมพื้นที่ให้เพียงพอเนื่องจากอาจมีผู้เข้ามาจดทะเบียนสมรสเป็นจำนวนมาก ขณะที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงเอกสารผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส จาก “สามี-ภริยา” เป็น “บุคคล” เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว
โดยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้มีการส่งข้อสังเกตให้คณะรัฐมนตรีเร่งแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้มีถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศ เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และกฎหมายรับรองเพศคำนำหน้านาม เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม ทั้งในด้านการก่อตั้งครอบครัว การตั้งครรภ์ และการได้รับความคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขกฎหมาย เผยแพร่ความรู้ และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายใหม่ในอนาคต
ถึงแม้ว่าในมาตรา 67 วรรคหนึ่งของการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะบัญญัติไว้ว่า บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภรรยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย
ซึ่งเป็นมาตราที่อยู่ในร่างของพรรคก้าวไกลในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบทบัญญัติในบางกฎหมาย เช่น ประมวลกฎหมายรัษฎากร พระราชบัญญัติสัญชาติ ที่กำหนดให้สามีและภริยาสิทธิไม่เท่ากัน
ดังนั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ จึงเสนอให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณากฎหมายที่มีคำว่าสามีภรรยานั้นสามารถตีความให้หมายถึงคู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศได้หรือไม่ ซึ่งหากมีกฎหมายที่ต้องแก้ไขจะต้องรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับจากวันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ ก่อนเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews