“เฉลิมชัย” ย้ำปัญหามีไว้แก้ ยก 6 มาตรการแก้ภัยช้างป่า
“เฉลิมชัย”ย้ำปัญหามีไว้แก้ ยก 6 มาตรการ แก้ภัยช้างป่า แจงวัคซีนคุมกำเนิดไม่ใช่ทำหมันช้าง “ลดประชากรช้างป่า” แก้ปัญหาระยะยาว หวั่น ลุกลามเป็นวิกฤติระดับชาติ!
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ตอบกระทู้ถามทั่วไป ต่อ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีปัญหาภัยจากช้างป่า บุกรุกที่ทำกินของประชาชน มีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร
นายเฉลิมชัย ชี้แจงว่า อยากให้มีเวทีสร้างความเข้าใจปัญหาคนกับช้างป่า ตั้งแต่มาเป็น รมว.ทส. มีหน้าที่รักษาชีวิตประชาชน และหน้าที่อนุรักษ์ช้างไปพร้อมๆ กัน ตนมีแนวคิดอยากจะให้คนอยู่ร่วมกับช้างได้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย วันนี้มีช้างป่า จำนวน 4,000 กว่าเชือก ก่อให้เกิดความเสียหาย
จากสถิติทั้งการเสียชีวิต การบาดเจ็บของประชาชน และเจ้าหน้าที่ ยังไม่นับรวมความเสียหายภาคการเกษตร เป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวง ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งช้างมีอัตราการเกิด 7-8 % หากปล่อยไปอีก 10 ปี จะมีช้างป่าเพิ่มเป็นเท่าหนึ่ง คือ 8,000 กว่าเชือก หากไม่เร่งแก้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ
ซึ่งวันนี้ตนได้ประสานงานกับคณะกรรมการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร และได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้ามาคุยว่า ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง ระดมความคิดหามาตรการอะไรบ้าง ที่สามารถดำเนินการแก้ไขตรงนี้ได้
ทั้งนี้ การจัดการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม มี 6 มาตรการ ในสมัยรัฐบาลชุดก่อน ตนได้นำมาตรการทั้ง 6 ข้อนั้น มาดูว่ามีตรงไหนที่ไม่ได้ดำเนินการ และไม่รีบดำเนินการ โดยมาตรการ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่อาหารให้ช้างป่า 2.การสร้างแนวการช้างป่า 3.การจัดชุดเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่า 4.การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าออกมาสร้างความเดือดร้อน 5.การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน และ6.แก้ปัญหาอัตราการเพิ่มของช้าง 7- 8% หรือ 10% ในพื้นที่ที่มีอุดมสมบูรณ์
ดังนั้น จึงมีการคิดค้นวัคซีนเพื่อคุมกำเนิดช้าง (ไม่ใช่การทำหมัน) เพื่อให้รอบการเกิดของช้างน้อยลง จะได้จัดการปัญหาอย่างอื่นได้ และวัคซีนตัวนี้ได้รับการรับรองแล้วว่าไม่มีอันตราย โดยทดลองใช้กับช้างบ้าน มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน “การดำเนินการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จะดำเนินการในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเสียก่อน
การดำเนินการตรงนี้จะสามารถใช้กับช้างเพศเมียที่เคยมีลูกแล้วเท่านั้น วัคซีนจะไปมีฤทธิ์ในการควบคุมฮอร์โมน สามารถควบคุมได้ 7 ปี ซึ่งเชื่อว่าใน 7 ปี เราจะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าเพิ่มพื้นที่อาหาร เพื่อแก้ปัญหาช้างได้ดีขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ปริมาณช้างขยายไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถควบคุม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews