กต.เปิดเวทีไขข้อเท็จจริงOCAไทย-กัมพูชา ย้ำไม่เสียเกาะกูด
![Featured Image](https://www.innnews.co.th/wp-content/uploads/2025/01/กต.เปิดเวทีไขข้อเท็จจริงOCAไทย-กัมพูชา-ย้ำไม่เสียเกาะกูด-scaled.jpg)
นายอังกูร ยืนยันว่า MOU 2544 ไม่ขัดกับพระบรมราชโองการการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของไทย พ.ศ. 2516 เนื่องจากเป็นสนธิสัญญา เป็นพันธกรณีที่ทำให้เรากับเพื่อนบ้านใช้สันติวิธีเจรจาหารือ
อีกทั้ง MOU 2544 ไม่มีผลกระทบกับเกาะกูด เพราะเกาะกูดมีอำนาจอธิปไตย ไม่เกี่ยวข้องกับการลากเส้นของกัมพูชา เพียงแต่ไทยจะต้องมีการพูดคุยเส้นที่กัมพูชาลากโดยไม่ถูกต้อง ส่วนที่บอกว่า MOU 2544เป็น MOU เถื่อน ไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภานั้น เป็นเพราะในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าเรื่องดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา
แต่ในอนาคตหากเราดำเนินการตามกรอบMOU 2544 จะเป็นไปตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งเป็นกลไกการตรวจสอบที่ทำให้ทุกคนสบายใจไม่ว่า จะเจรจาหารืออะไรประชาชนจะต้องรับได้ รัฐสภาให้ความเห็นชอบ และอยู่บนหลักพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ
ด้าน ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า MOU44 เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และมีผลบนกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะถือเป็นความตกลงระหว่างรัฐ ซึ่งหากไทยยกเลิกเพียงฝ่ายเดียวอาจเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศได้
สำหรับ MOU 2544 เกิดขึ้นตามพระบรมราชโองการการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของไทย พ.ศ. 2516 ซึ่งข้อตกลงชั่วคราวระหว่างสองรัฐ เพื่อให้มีการเจรจา ไม่มีผลกระทบต่อการเจรจาของทั้งสองประเทศและไม่ได้ทำให้สิทธิของฝ่ายใดหายไป หรือมีมากขึ้น ซึ่ง MOU 2544 กำหนดให้เจรจาทำความตกลง เพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน และกำหนดพื้นที่ขอบเขตการแบ่งเขต ไม่สามารถทำข้อใดข้อหนึ่งแยกกันได้ โดยคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่มีอะไรยัดไว้ใต้โต๊ะ หรือมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ส่วน ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวในช่วง “อนาคตความมั่นคงทางพลังงานจากอ่าวไทย” โดนแนะนำรัฐบาลเร่งเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิไหล่ทวีปไทย-กัมพูชาเพื่อเปิดทางแสวงหาแหล่งก๊าซใหม่ หลังปริมาณก๊าซสำรองลดลงเข้าขั้นวิกฤต กระทบต่องบประมาณแผ่นดิน โดยบริษัทผู้รับสัมปทานยังเริ่มชะลอการลงทุน ลดการจ้างงาน และถอนตัวไปลงทุนที่อื่น
สำหรับแนวทางการแก้ไข จะต้องมีการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ แม้ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเริ่มนำแหล่งก๊าซที่จะหมดอายุสัมปทานมาบริหารจัดการและผลิตต่อ แต่ก็ยังมีกำลังผลิตลดลงมากกว่า 50% จึงควรที่จะเจรจาหาข้อยุติเรื่องการอ้างสิทธิในพื้นที่ไหล่ทวีประหว่างไทยกัมพูชา เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพที่จะพบปิโตรเลียมสูง
ขณะที่ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้ชี้จุดอ่อนของ MOU44 ว่า ปัญหาทั้งหมด เกิดขึ้นเพราะมุมมองที่แตกต่างกันของไทย และกัมพูชา ซึ่งมีความแตกต่างกัน จนยากที่จะคุยและจะยอมรับได้ เพราะเส้นแบ่งของกัมพูชา ได้ผ่ากลางเกาะกูด แต่ไทยได้ยึดเส้นมัธยะ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งครึ่งของระยะทางทั้งหมด ระหว่างเกาะกูดของไทย และเกาะกงของกัมพูชา ดังนั้น จึงยากที่จะคุยกันได้และผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ก็เห็นตรงกันว่า ไม่สามารถยอมรับเส้นแบ่งของกัมพูชาได้
นายคำนูญ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การยอมรับให้ความสำคัญ กับการมีอยู่ของเส้นแบ่งนี้ของกัมพูชา ในหนังสือราชการ และข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นสิทธิสัญญานั้น เป็นสิ่งที่ไทยควรทำหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ตนไม่เห็นด้วยกับการเจรจา และการเจรจายังต้องเจรจากันต่อไป แต่จะต้องไม่ใช่เป็นไปในลักษณะที่ยอมรับการมีอยู่ของเส้นแบ่งของกัมพูชา เพราะเส้นแบ่งของไทยนั้นถูกต้อง แม้จะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ก็ใกล้เคียงความถูกต้อง จึงทำให้ฝ่ายที่เห็นต่าง ไม่ค่อยเห็นด้วยกับ MOU44
นายคำนูณ ยังกังวลว่า การอ้างสิทธิของกัมพูชาดังกล่าว อาจจะซ้ำรอยกับ MOU43 ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทประสาทเขาพระวิหาร จนศาลโลกตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา จากการบิดเบือนข้อเท็จจริง ดังนั้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จึงเห็นว่า เมื่อเส้นแบ่งของกัมพูชา ไม่ใช่เส้นทางอ้างสิทธิปกติ แต่เป็นการเต้าเรื่อง และอ้างสิทธิ ก่อให้เกิดความแตกต่างมหาศาล จึงทำให้ไม่สามารถยอมรับได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews