ธปท.ผลักดันแนวทางร่วมรับผิดชอบยกระดับจัดการบัญชีม้า

ธปท.ยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้าเพิ่มเติม ผลักดันแนวทางการร่วมรับผิดชอบ
นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินมาอย่างต่อเนื่องโดยที่ผ่านมา มีการดำเนินการสำคัญ อาทิ การกำกับดูแลให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการให้บริการ mobile banking ที่ปลอดภัยมากขึ้น การยกระดับการจัดการบัญชีม้าจากระดับบัญชีเป็นระดับบุคคล ซึ่งช่วยให้บัญชีม้าถูกระงับเป็นจำนวนมากและเปิดใหม่ได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ดี รูปแบบและพฤติกรรมของมิจฉาชีพที่เปลี่ยนไปต่อเนื่อง ทำให้ความเสียหายจากภัยทุจริตทางการเงินไม่ได้ลดลง ธปท. จึงยกระดับมาตรการเชิงป้องกัน โดยเพิ่มความเข้มข้นและขยายผลการจัดการบัญชีต้องสงสัย เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันความเสี่ยงและแก้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ชี้แจงว่ามาตรการยกระดับการจัดการบัญชีม้าเพิ่มเติม ประกอบด้วย การกวาดล้างบัญชีม้าให้ได้มากขึ้น โดยปรับเงื่อนไขการเข้าข่ายเป็นบัญชีม้าให้เข้มขึ้น โดยคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น พฤติกรรมการโอนของบัญชีม้า มูลค่าของธุรกรรม เพื่อให้ครอบคลุมพฤติกรรมของมิจฉาชีพที่เปลี่ยนไป
การจัดการบัญชีม้าระดับบุคคลที่เข้มข้นขึ้น โดยธนาคารต้องขยายให้การระงับการโอนเงินออกจากบัญชีม้าและการปฏิเสธการเปิดบัญชีใหม่ ครอบคลุมไปถึงกรณีของบัญชีที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะเป็นบัญชีม้า(แต่ยังไม่ถูกแจ้งว่าทำให้เกิดความเสียหาย) เพิ่มเติมด้วย รวมทั้งต้องกันเงินไม่ให้เข้าไปยังบัญชีของม้าทุกประเภทที่ระบุได้ชัดเจนว่ามีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ ธนาคารต้องแจ้งเตือนให้ผู้โอนรู้ตัวว่า อาจกำลังโอนเงินไปยังบัญชีม้า เพื่อป้องกันความเสียหายตั้งแต่ต้น และผู้ถูกหลอกไม่ต้องเสียเวลาในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อรับเงินคืน
ขยายการจัดการในวงที่กว้างขึ้น โดยกำหนดให้ธนาคารต้องแลกเปลี่ยนรายชื่อบุคคลที่ธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัยระหว่างกันเพิ่มเติมแม้ยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหายจากเดิมที่แลกเปลี่ยนกันเฉพาะรายชื่อบุคคลที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามฐานข้อมูลสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และรายชื่อบุคคลที่ถูกแจ้งความหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินทุจริตเท่านั้น เพื่อให้ธนาคารดำเนินการป้องกันภัยทุจริตได้ครอบคลุม รวดเร็ว เป็นมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น
นอกจากนี้ ธปท. ยังกำหนดให้ธนาคารต้องพัฒนาการจัดการบัญชีม้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากรูปแบบการหลอกลวงและพฤติกรรมของมิจฉาชีพในอนาคต เช่น การปรับปรุงเงื่อนไขการตรวจจับบัญชีม้าให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ การพัฒนาระบบการตรวจจับบัญชีม้าและพฤติกรรมผิดปกติของลูกค้า เพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมกับพฤติกรรมรายบุคคลอย่างรวดเร็วตลอดจนร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้กำกับดูแลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น
ทั้งนี้ ธปท. เห็นว่าการแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินให้ได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาคธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ ในการรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองตามขอบเขตมาตรฐานที่ผู้กำกับดูแลกำหนดไว้อย่างชัดเจน หากฝ่ายไหนละเลยการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ควรที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น
โดย ธปท. จะประกาศกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่ธนาคารพึงปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับผู้กำกับดูแลด้านอื่น ๆ ต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews