เริ่มแล้วประชุม 7 ชาติ ในความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล BIMSTEC

เริ่มแล้วประชุม 7 ชาติ ในความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล BIMSTEC ผู้นำทุกประเทศหารือแบบตัวต่อตัวในรอบ7ปี ครั้งแรก พร้อมหนุนกระชับความร่วมมือ เศรษฐกิจในกลุ่มประชาชนร่วมกันกว่า 1,800 ล้านคน ขณะที่เมียนมาเดินหน้าแก้ปัญหาทุกมิติร่วมไทย
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกแบบตัวต่อตัว ในรอบ 7 ปี โดยมีผู้นำทั้ง 7 รวมทั้งไทยเข้าร่วมประชุมได้แก่ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ
นายดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีแห่งเนปาล ดร.หริณี อมรสุริยะ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
โดยก่อนการประชุม น.ส.แพทองธาร ได้พบหารือทวิภาคีกับ พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีเมียนมา โดยได้กล่าวแสดงความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสิ่งของแก่ประชาชนเมียนมา ซึ่งได้จัดส่งถึงเมียนมาแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
ในโอกาสนี้ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือครอบคลุมทั้งความร่วมมือด้านการป้องกันพิบัติภัย ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยจากมนุษย์ รวมทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด และการลักลอบการค้าที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะความร่วมมือ ในการปราบปรามแก๊ง call center และขบวนการ online scam รวมทั้งประสานเหยื่อผู้ถูกหลอกลวงกลับประเทศ ซึ่งมาตรการที่เด็ดขาดของประเทศไทย ทำให้การส่งข้อความและการโทรศัพท์หลอกลวง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการหน่วยความมั่นคงให้มีการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่าย ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินการในการเดินหน้าตาม”ยุทธศาสตร์ฟ้าใส “(Clear Sky Strategy) เพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขไฟป่า ฝุ่นละออง และหมอกควัน โดยมีสมาชิก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา โดยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก จุดความร้อน และปัญหาฝุ่น ควันลดน้อยลง นอกจากนี้ ไทยและเมียนมา ยังได้ร่วมกันเตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วมด้วยการเร่งขุดลอก รื้อถอน สิ่งกีดขวางทางน้ำในแหล่งน้ำ และแม่น้ำระหว่างสองประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ
ก่อนฤดูฝนในปีนี้ ทั้งนี้ ประเทศไทยและเมียนมา จะร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้ทางการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรสมัยใหม่ เช่นข้าวโพด ให้มีผลผลิตมากขึ้น ให้ทำลายธรรมชาติน้อยลง และลดการเผาพืช รวมทั้งการส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ ไก่ โค สุกร ซึ่งจะสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจหรือบิมสเทค ครั้งนี้ เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ
และเป็นการริเริ่มและผลักดันของไทย ตามนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ปัจจุบัน บิมสเทคมีความร่วมมือ 7 สาขา (1) การค้า การลงทุน และการพัฒนา (2) สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) ความมั่นคง (4) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (5) การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน (6) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมและ (7) ความเชื่อมโยง ไทยรับตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากศรีลังกา
ซึ่งผู้นำทุกประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง สะท้อนถึงการยึดมั่นในพันธสัญญาที่ทุกประเทศร่วมกันในฐานะสมาชิก ที่มีประชากรทั้งหมดราว 1,800 ล้านคน ซึ่งเป็นพลังและความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องมีความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews