ผู้ว่าฯ กทม.แจ้งความ นายกรัฐมนตรี ไม่สวมแมสก์ ขณะประชุม ตามปรับถึงทำเนียบ 6,000 บาท
แฟนเพจเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน โพสต์ข้อความระบุว่า กรณี มีภาพ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดหน้ากากอนามัย (ไม่สวมแมสก์ ) ระหว่างการประชุมที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาและการกระจายวัคซีน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 11.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ทำเนียบรัฐบาล นั้น
หลังจากการประชุม นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งมายังผม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ตรวจสอบว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่ ผมจึงได้แจ้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืน ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก เป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ตามระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ พ.ศ.2563
โดยมีอัตราการเปรียบเทียบปรับตามบัญชีท้าย เป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท
ต่อมา ผม พร้อมด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต จึงเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กล่าวหาในฐานความผิดดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ จึงได้ให้พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เปรียบเทียบปรับตามอัตราดังกล่าวครับ
รอง ผบ.ตร. ยันแล้ว ตำรวจมีอำนาจสั่งปรับคนไม่สวมแมสก์ตามประกาศฯ ครั้งแรก 6พันบาท สูงสุด 2หมื่น
พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวการถึงการดำเนินการกับผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกประกาศ 48 จังหวัดรวม กทม. ให้ประชาชนทุกคนใส่หน้ากากอนามัย ก่อนออกจากเคหสถาน ทั้งนี้หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามจะถือว่ามีความผิดว่า ตามระเบียบของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ที่สั่งให้ปรับไม่เกิน 20,000 บาท มีระเบียบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ออกมาวางแนวทางไว้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563
โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามไว้ ซึ่งมีแนวทางมีกรอบการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานในการเปรียบเทียบปรับ ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ โดยปรับความผิดครั้งแรกในอัตรา 6,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 12,000 บาท ความผิดครั้งที่ 3 หากยังทำอีกครั้งก็จะเปรียบเทียบปรับ 20,000 บาท แต่ทั้งนี้พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลยพินิจตามข้อ 8 คือมีเหตุผลพิเศษอันควรที่จะลดค่าปรับได้คำนึงถึงความหนักเบาของข้อหาและพฤติการณ์
รวมถึงความเสียหายที่เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษา สุขภาพ อาชีพ ฯลฯ สามารถเปรียบเทียบปรับลดลงได้แต่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือไม่น้อยกว่า 2,000 บาทแต่หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมก็จะต้องส่งฟ้องศาล ซึ่งศาลจะใช้ดุลยพินิจในการเปรียบเทียบ
ส่วนกรณีของนายกรัฐมนตรี วางแนว 6,000 บาทครั้งแรกก็ต้องจ่าย 6,000 บาท ซึ่งทางเจ้าพนักงานผู้เปรียบเทียบปรับไม่ได้ใช้เหตุในการลดหย่อนจึงเสียเต็มในอัตราสูงสุดของการฝ่าฝืนครั้งแรก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news