ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคโควิด ฉบับที่ 3
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ฉบับที่ 3) โดยมีสาระสำคัญ คือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ยกเลิกนิยามเดิมของคำว่า “ค่าใช้จ่าย” และให้ใช้ข้อความ “ค่าใช้จ่ายหมายความว่า ค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาล หรือการส่งต่อผู้ป่วย และให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีน หรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ที่ปรากฏตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขนี้” แทน
นอกจากนี้ยังได้ให้ยกเลิกนิยาม “ผู้ป่วย”เดิม และให้ใช้ข้อความ “ผู้ป่วย” หมายความว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 และให้หมายความรวมถึง บุคคลกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันโรคโควิด-19 โดยการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาลที่ภาครัฐกำหนด และเกิดอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน”แทน ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.63 เป็นต้นไป เว้นแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 64 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วยในอัตราค่าใช้จ่ายตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของสำนักงาน และค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ ส่งต่อผู้ป่วยในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด-19 เช่น ค่ารถยนต์ส่งต่อผู้ป่วยระยะทางไม่เกิน 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท ระยะทางไปกลับมากกว่า 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท ค่าเรือหรือแพขนานยนต์ส่งต่อผู้ป่วย
จ่ายชดเชยตามระยะทางและชนิดของเรือ เช่นระยะทางไปกลับ 5-15 กิโลเมตร เรือหางยาวเร็ว 1,200 บาท เรือเร็ว 2,000 บาท เรือเร็ว 2 เครื่องยนต์ 5,000 บาท ระยะทางไปกลับ 101 กิโลเมตรเป็นต้นไป เรือเร็ว 35,000 บาท เป็นต้น
ครม. อนุมัติให้กรมราชทัณฑ์ก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ค่าวัสดุอาหารที่ค้างชำระ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กรมราชทัณฑ์ก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2,256.14 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ค่าวัสดุอาหารที่ค้างชำระ เนื่องจากจำนวนเฉลี่ยผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ที่กรมราชทัณฑ์ต้องควบคุมดูแลมีจำนวนมากกว่างบประมาณที่กรมราชทัณฑ์ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 4,322.28 ล้านบาท ประกอบกับกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรายการอื่นที่คงเหลือเบิกจ่ายสมทบแล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายจริงจึงทำให้ยังคงมีหนี้ค่าวัสดุอาหารค้างจ่ายอีกจำนวน 2,256.14 ล้านบาท
ทั้งนี้พบว่าสถิติจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ครม.เคยมีมติเมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 ให้กระทรวงยุติธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเมินผลการดำเนินการตามแนวทางต่างๆในการลดจำนวนผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ และนำแนวทางที่พบว่ามีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพไปขยายผลในการปฏิบัติให้มากขึ้น รวมทั้งให้พิจารณากำหนดมาตรการการลงโทษในรูปแบบอื่นนอกจากโทษจำคุก หรือปรับปรุงมาตรการเดิมเพื่อให้สามารถลดจำนวนผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ได้มากยิ่งขึ้นและมีความยั่งยืน
ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีหนุนสถาบันการเงิน ไฟเขียวร่าสงประกาศ มท.เก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิประมวลกฎหมายที่ดิน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชนเพื่อลดภาระต้นทุนของสถาบันการเงินประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของสมาชิก พร้อมกับอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่สถาบันการเงินประชาชนและสมาชิกของสถาบันการเงินประชาชนสำหรับการดำเนินการต่างๆตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินประชาชน
ขณะเดียวกันครม. ยังได้อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน มีสาระสำคัญ คือ เป็นการลดหย่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน โดยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์และการจำนองอสังหาริมทรัพย์ในอัตราร้อยละ 0.01
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการนี้ พบว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากภาษีที่คาดว่าจะได้รับประมาณปีละ18 ล้านบาท และสูญเสียรายได้ที่ได้รับจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประมาณปีละ 2.6 ล้านบาท แต่จะช่วยให้สถาบันการเงินประชาชนมีภาระต้นทุนในการดำเนินงานที่ลดลงและสามารถดำเนินกิจการตามภารกิจและวัตถุประสงค์ที่ต้องการส่งเสริมการออมทรัพย์และให้บริการทางการเงินแก่สมาชิก รวมทั้งส่งเสริมหรือสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิตและสวัสดิการของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news