“วิโรจน์” แนะ สธ.เอากรณีผู้ป่วยเสียชีวิตมาวิเคราะห์กระบวนการรักษาต่อไป ย้ำ ควรลดการรอคอยให้เหลือน้อยที่สุด
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการแถลงของ ศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า พบข้อมูลระยะเวลาวันที่ทราบผลติดเชื้อจนถึงเสียชีวิตค่าเฉลี่ย 3 วัน ”จึงอาจทำให้ตีความได้ว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบนี้ รุนแรงมาก เพราะติดเชื้อเพียงแค่ 3 วัน ก็เสียชีวิตแล้ว ว่า ระยะเวลา 3 วัน ดังกล่าวเริ่มนับจาก ‘วันที่ทราบผลติดเชื้อ’ จึงมีสมมติฐานที่สามารถคิดได้อีกมิติหนึ่งคือ การเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ อาจจะเกิดขึ้นจาก ‘การรอคอย’ ก็ได้ ซึ่งการรอคอย อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการ 4 รอ ได้แก่
1.รอคิวตรวจ ซึ่งมีรายงานข่าวปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อที่ต้องรอคิวตรวจจนต้องเสียชีวิตหรือกว่าจะมาพบแพทย์ ผู้ติดเชื้ออาจจะมีอาการหนักแล้ว
2.รอผลตรวจ เนื่องจากมีการตรวจ RT-PCR เป็นจำนวนมาก ทำให้กว่าจะออกผลตรวจได้ อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ
3.รอเตียง ทั้งที่ทราบผลตรวจแล้วแต่ยังต้องรอเตียงว่าง ระหว่างที่รออาจมีอาการหนักขึ้น
4.รอยา ในกลุ่มเสี่ยง ระหว่างที่ยังไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย หากได้รับยาก Favipiravir เร็วภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ ก็จะสามารถสกัดการรุกลามได้
ทั้งนี้ ตนคิดว่ากระทรวงสาธารณสุขควรเอากรณีการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น มาวิเคราะห์ว่าในกระบวนการรักษาผู้ป่วย นั้นมีระยะเวลาในการรอคอย คือ กระบวนการในการรักษาชีวิตคน ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการลดการรอคอยให้เหลือน้อยที่สุดเพราะต้นทุนที่แพงที่สุดก็คือ การเสียชีวิตของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น รอคิวตรวจ รอผลตรวจ รอเตียง หรือ รอยา เพราะการรอต่างๆ เหล่านี้ ผู้ติดเชื้ออาจกำลัง ‘รอความตาย’ อยู่ก็ได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news