นายกฯไม่ท้อแก้ปัญหาโควิด-19 ระดมเตียงเพิ่ม ผุดช่วยประชาชนลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดดอกเบี้ยกยศ และชดเชยผู้ประกันตนตามม.33กักตัว หรือหยุดงาน(click ดูวิดีโอ)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี จากการได้รับทราบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด covid ระลอกใหม่ ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างและเกิดกลุ่มก้อนต่างๆในหลายจังหวัด ในฐานะ นายก และ ผอ.ศบค.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และสั่งการเพิ่มเติมสำหรับการจัดหาบริการ เตียงผู้ป่วย และโรงพยาบาลสนาม พร้อมแบ่งกลุ่มอาการระดับสีเขียวสีเหลือง และสีแดง พร้อมให้คัดกรองผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนาม เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และรักษาเตียงว่างไว้ให้กับผู้ป่วยที่จำเป็น และเพิ่มจำนวนผู้รับโทรศัพท์สายด่วน 1668 1669 และ 1330 ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งตัวผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อช่วยแยกตัวผู้ป่วยออกจากชุมชนเพื่อรอส่งตัวรักษาตัวต่อไป ได้ถึง 96% พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม และกทม. เร่งดำเนินการให้เพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ สามารถติดต่อผู้ป่วยที่รอเตียงตกค้าง ทั้งหมดเข้าสู่ระบบการรักษา ตามที่ได้แบ่งไว้ 3 กลุ่ม ที่ปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยรอเตรียมเกิน 48 ชั่วโมงแล้ว ซึ่งจากความพยายามในการเพิ่มเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่มากขึ้น ทั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้น จากช่วงสงกรานต์ เกือบ 10,000 เตียง และมีเตียงว่างรวมทั่วประเทศ มากกว่า 30,000 เตียง
ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาจัดตั้ง พร้อมสามารถแก้ไขปัญหาสายด่วน เพื่อรับตัวผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วยได้เจ้ารับการรักษา และการเตรียมเตียง ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกคน ทุกองค์กร จิตอาสา ที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันจนสามารถแก้ไขปัญหาได้ไประดับหนึ่ง
นายก ติดตามคลัสเตอร์คลองเตย ใกล้ชิด ใช้ประสบการณ์จากสมุทรสาคร มาปรับใช้ ตั้งเป้าตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อย 2 หมื่นคน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ได้มีการติดตามกรณีคัตเตอร์คลองเตยอย่างใกล้ชิด โดยหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยใช้ประสบการณ์จากการจัดการ ใน จ.สมุทรสาคร ที่ประความสำเร็จแล้วมาปรับใช้ ซึ่งใช้โมเดลตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษาเน้นที่การตรวจเชิงรุก Active Case finding ที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่มีการติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน
โดยหน่วยเคลื่อนที่และรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน ที่จะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อย 2 หมื่นคน จากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปทันที คือ การแยกผู้ป่วยตามระดับอาการแล้วส่งตัวเข้าสถานพยาบาลแรกรับ เพื่อจะส่งไปรักษาตัวต่อ ก็จะเป็นการจำกัดวงการแพร่ระบาด ให้เป็นวงเล็กที่สุด
ขณะเดียวกัน จะต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งแนวทางนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าประสบสำเร็จมาแล้วจากจ.สมุทรสาครในช่วงที่ผ่านมา
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และ การท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้กับประชาชน ในชุมชนคลองเตยได้ 700 คนต่อวัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนต รีได้สั่งการให้สำรองเตียงสำหรับผู้ที่มีอาการหนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ขณะนี้ยังคงมีเพียงพอแต่เรายังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้
พร้อมต้องขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน ที่วันนี้ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียง สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 432 เตียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีแผน บริหารจัดการผู้ป่วย อาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง ซึ่งได้เน้นย้ำ ในหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญ คือต้องทำทุกอย่างเพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด
นายกฯ เผย สำรองยาฟาวิพิราเวียไว้แล้ว ย้ำมีเพียงพอ กำลังพิจารณาให้ผู้ป่วยโควิดขั้นอื่น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าว ถึงการใช้ยาฟาวิพิราเวีย ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า แม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ได้มีการสำรองไว้แล้ว อย่างเพียงพอ ที่ขณะนี้เหลืออยู่ในสต๊อก 1.5 ล้านเม็ด และได้กระจายไปทุกเขตทั่วประเทศ โดยจะได้รับเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ดในเดือนนี้ จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้มากนัก และขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะให้ยาฟาวิพิราเวียแก่ผู้ป่วยที่รักษาโควิดขั้นอื่น นอกจากการให้ในช่วงที่มีอาการหนัก ที่วันนี้กระทรวงสาธารณสุข กำลังพิจารณา รวมทั้งต้องหายา ที่ได้รับมาตรฐานและได้รับการยอมรับในการรักษาเพิ่มเติม
นายกฯ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ปชช.อย่างน้อย ร้อยละ 70 หรือทั้งหมด 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมกว่า 7 หมื่นคน แต่รักษาหายกลับบ้านไปแล้วมากกว่า 40,000 คน ซึ่งถือเป็นความสามารถของทีมแพทย์ไทย และความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนในการรักษาโควิด-19 โดยรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ตามสิทธิ์การรักษาผู้ป่วย ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับเข้าอุดหนุนร้อยละ 20 ของค่าบริการ
ส่วนประเด็นการจัดหาและการฉีดวัคซีนนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้กำหนดให้เป็นมาตรการเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายในสิ้นปีนี้ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 หรือประชากร 50 ล้านคน หรือใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ประเทศไทยมีวัคซีนตามแผนแล้ว 63 ล้านโดส โดยจะเริ่มฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ กว่า 16 ล้านคน ส่วนในเดือนพฤษภาคมนี้จะได้รับวัคซีนซิโนแวค แผนอีก 3.5 ล้านโดส เพื่อระดมฉีดให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้ได้มากที่สุด
และกระทรวงสาธารณสุข ยังจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม คือ วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 5-20 ล้านโดส สปุตนิก วี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และซิโนแวค บริษัทละ 5-10 ล้านโดส พร้อมยืนยันว่า ได้มีการวางแผนการกระจายวัคซีนอย่างเป็นระบบ ผ่านระบบหมอพร้อมที่มีประชาชนมาจองคิวแล้วมากกว่า 1 ล้านคน พร้อมกับผ่านเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและเครือข่ายอสม.ทั่วประเทศ โดยใช้แผนการบริหารจัดการวัคซีนตามกระทรวงสาธารณสุข และการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม จัดลำดับกลุ่มเสี่ยง อย่างเร่งด่วนพื้นที่เศรษฐกิจ โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส และชนะสงครามโควิด -19ครั้งนี้ให้ได้
นายกฯ ตั้งศูนย์แก้ปัญหาโควิดในพื้นที่กทม.และปริมณฑล พร้อมตั้งคกก.เฉพาะกิจเพื่อบูรณาการทางการแพทย์ และสาธารณสุข
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์เพื่อบริการจัดการต่างๆ เพื่อสนับสนุนกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถควบคุมได้อย่างเร่งด่วน ตนได้จัดตั้งศูนย์บริการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลขึ้น เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์นี้ และมีผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัดเป็นกรรมการ
นอกจากนี้ การดำเนินการครั้งนี้ยังเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาจังหวัดอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย และเพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิดในภาพรวมให้ดียิ่งขึ้น พร้อมได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการทางการแพทย์ และสาธารณสุข โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิตปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษา และมีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน
โดยหัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุข มหาดไทย และกลาโหม เป็นกรรมการ? เพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงาน ทั้งทรัพยากรและบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การตรวจคัดกรอง การควบคุมพื้นที่ และอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดการแก้ไขและสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทั้ง 2 คณะ และศบค.ทุกชุด จะมีคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข มาให้คำปรึกษา โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน รวมทั้งมีอาจารย์แพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ มาเป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะ ตามหลักวิชาการด้านสาธารณสุข สามารถเชื่อมประสานกับโรงพยาบาลต่างๆได้อย่างดีด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีในวันเดียวกันนี้ ไม่ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นการเมืองทั้งในประเด็นที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาพูดผ่านคลับเฮ้าส์ และกระแสเรื่องการย้ายประเทศแต่อย่างใด
นายกฯห่วงประชาชนหาเช้ากินค่ำ สั่งกระทรวงการคลัง ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเร่งด่วน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า อีกมิติหนึ่งในการบริหาร จัดการสถานการณ์โควิคที่จะต้องทำควบคู่กันไป คือ มิติด้านเศรษฐกิจ ที่ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นประเด็นที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงกับประชาชน ทั้งประเทศ รวมถึงการเดินหน้าของประเทศไทย ในปัจจุบันและอนาคต จึงทำให้มีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบการอื่นๆ ที่เป็นห่วงโซ่สำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย จึงได้ตั้งคณะกรรมการ?ศูนย์บริหารสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อพิจารณาการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยได้มีมาตรการออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งโครงการเราชนะ โครงการม.33เรารักกัน และมาตรการทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้จำเป็นต้องออกมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ที่เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน
โดยสรุปมาตรการได้ดังต่อไปนี้ มาตรการในระยะที่ 1 มี 3 มาตรการหลัก ที่สามารถดำเนินการได้ทันที
ได้แก่ 1 มาตรการด้านการเงิน มีจำนวน 2 มาตรการ
คือ 1.) มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด 19 วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชนผู้ประกอบการและเกษตรกร โดยธนาคารออมสินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35 เปอร์เซ็นต์ ต่อเดือนระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก
2.) มาตรการพักชำระหนี้ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้เงินต้น ให้แก่ลูกหนี้ออกไปถึงสิ้นปีนี้เพื่อลดภาระ นำเงินส่วนนี้ไปเสริมสภาพคล่อง
2. มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าและประปาของประชาชนให้กับกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนและกิจการที่ถูกปิด
3. มาตรการต่อเนื่อง ด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบ 2 โครงการวงเงิน 88,500 ล้านบาท แบ่งเป็น การเพิ่มวงเงินเราชนะอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดการใช้จ่ายในเดือน มิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท
ส่วนการช่วยเหลือเพิ่มวงเงิน ในโครงการผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท ระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดระยะการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินประมาณ 18,500 บาท
ส่วนมาตรการในระยะที่ 1 นั้นคณะรัฐมนตรี ให้มติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่อง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาและค่าไฟฟ้า ในช่วงเดือนพฤษภาคม และ มิถุนายนนี้ ส่วนการเพิ่มวงเงินในโครงการเราชนะและม. 33 เรารักกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเสนอโครงการตามที่รับผิดชอบ ซึ่งได้กำหนดให้นำเข้าสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆอีกอย่างเช่นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ตัวขยายระยะเวลาช่วยเหลือออกไปถึงสิ้นปีนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์มีประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ต้องกักตัวหรือหยุดงาน
นอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว รัฐบาลได้วางแผนช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ในเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2564 เชื่อว่าหากร่วมมือกันจำกัดการแพร่ระบาดได้อย่างเต็มที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินการในระยะที่ 2 ได้
โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงิน 140,000 ล้านบาท ได้แก่ มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ คือโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในระยะที่ 3 โดยให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม 200 บาท 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชน 13 ล้าน 6 แสนคน และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news