รัฐบาล แนะควรตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านก่อนเดินทางไปประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ขณะ กต.สั่งการกงสุลไทยในสหรัฐตรวจสอบนโยบายฉีดวัคซีนโควิด19
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่บางประเทศกำหนดให้การฉีด วัคซีนโควิด19 มาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการเดินทางเข้าประเทศนั้น รัฐบาลขอชี้แจงว่า ผู้ที่มีความประสงค์เดินทางไปต่างประเทศ จำเป็นต้องตรวจสอบกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมือง และมาตรการทางด้านสาธารณสุขของประเทศปลายทางให้ชัดเจนก่อนเสมอ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นความท้าทายในหลายประเทศ และมีระดับของความรุนแรงแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ควรปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศนั้นๆอย่างเคร่งครัด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเผยถึงกรณีการเดินทางเข้าประเทศในสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการชี้แจงในเบื้องต้นไปบ้างแล้ว ว่า EU ได้ผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิก EU แต่ละประเทศมีอำนาจในการประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการด้านสาธารณสุขของตนเอง
โดยประเทศสมาชิก EU ที่สามารถเดินทางจากประเทศไทยได้โดยไม่มีเงื่อนไข มี 13 ประเทศ ได้แก่ โปรตุเกส สเปน อิตาลี เยอรมนี โครเอเชีย โปแลนด์ เอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ บัลแกเรีย กรีซ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ส่วนประเทศที่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดตามที่ประเทศปลายทางกำหนด 14 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เช็ก ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ลัตเวีย สโลวีเนีย สโลวาเกีย ฮังการี ลิทัวเนีย โรมาเนีย ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก และไซปรัส ผู้ที่จะเดินทางจึงจำเป็นต้องตรวจสอบมาตรการสาธารณสุขของประเทศปลายทาง และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า ขณะนี้ EU ยังไม่ได้กำหนดให้การฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือการฉีดวัคซีนประเภทใดเป็นเงื่อนไขการเดินทางเข้าเขต EU และยังอยู่ในระหว่างพิจารณาวิธีการรับรองการฉีดวัคซีนฯ (Vaccination Certificate – VC) ของประเทศนอก EU ซึ่งหากพิจารณาแล้วเสร็จ ประเทศสมาชิก EU แต่ละประเทศก็จะนำไปกำหนดมาตรการและเงื่อนไขในการเดินทางเข้าต่อไป อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้ที่ประสงค์เดินทางไปต่างประเทศติดตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศสมาชิก EU จากเว็บไซต์ของสหภาพยุโรป (https://reopen.europa.eu)
กต.สั่งการสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในสหรัฐฯ ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการฉีด วัคซีนโควิด19 ให้กับชาวต่างชาติของมลรัฐ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่องการเดินทางไปท่องเที่ยวและฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่สหรัฐอเมริกา ว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการสั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในสหรัฐฯ ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับชาวต่างชาติของมลรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ
พบว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะเรียกดูข้อมูลหลักฐานถิ่นที่อยู่ หลักฐานการทำงานหรือการศึกษาในรัฐ รวมถึงจะพิจารณาหลักฐานการเข้าเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต และอาจปฏิเสธการให้บริการหากไม่สามารถแสดงหลักฐานตามที่ร้องขอได้
ทั้งนี้ ในแต่ละมลรัฐมีนโยบายการฉีดและแจกจ่ายวัคซีนที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยรวมจะมีการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีถิ่นพำนัก ทำงาน หรือศึกษาในมลรัฐนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ในบางมลรัฐได้จัดสรรวัคซีนให้กับผู้ไม่มีถิ่นพำนักและไม่ได้ทำงานหรือศึกษาในมลรัฐนั้น ๆ แต่ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าอนุญาตให้นักท่องเที่ยว ยกเว้นมลรัฐอแลสกา ที่มีนโยบายชัดเจนว่า ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนได้
กระทรวงการต่างประเทศ ยังเน้นย้ำว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสหรัฐฯ ได้รับอนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉินเท่านั้น หากรับวัคซีนแล้วมีอาการข้างเคียงหรือการแพ้รุนแรง บริษัทฯ ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ และหากไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีราคาสูงอีกด้วย
นายอนุชา จึงขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในสหรัฐฯ เพื่อฉีดวัคซีน โปรดศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานทางการของสหรัฐฯ อาทิ เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย รวมถึงนโยบายการจัดสรรวัคซีนของมลรัฐต่าง ๆ ข้อมูลการตรวจคนเข้าเมือง มาตรการด้านสาธารณสุข และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนมาตรการที่ต้องปฏิบัติเมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยด้วย
รัฐบาลพร้อมดูแล เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ขาดคนดูแลเหตุโควิด19 และอำนวยความสะดวกจองวัคซีน-ส่งตัวรักษาโรงพยาบาล
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด19 ให้ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ครอบคลุม เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นผู้ป่วยโควิด19 แต่ก็อาจได้รับผลกระทบ เพราะเป็นผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง เมื่อผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด19 กลุ่มเปราะบางจึงอยู่ในสถานะขาดที่พึ่ง ภาครัฐจึงต้องวางแผนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาของคนกลุ่มนี้ด้วย
ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้สั่งเปิดสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศเป็นการเฉพาะ ในกรณี 1) ได้รับความเดือดร้อนไม่มีผู้ดูแลเนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเป็นผู้ติดเชื้อโควิด19 2) รักษาหายแล้วและกลับมาอยู่ในครอบครัว แต่มีความเครียดวิตกกังวล 3) ถูกทิ้งไว้ลำพัง และ 4 ) ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 เป็นผู้ส่งเสียเลี้ยงดู มากไปกว่านั้น ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีการแพร่ระบาดของโรคฯ อย่างมาก
พม. ได้เตรียมสถานที่พักพิงสำหรับกลุ่มเปราะบางไว้ต่างหาก อาทิ กรณีเด็ก ใช้สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี (เฉพาะเด็กหญิง) สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด (เฉพาะเด็กชาย) สถาบันประชาบดี ปทุมธานี กรณีผู้สูงอายุ ใช้ที่พักคนเดินทางดินแดงบ้านสร้างโอกาส ศูนย์ฝึกอบรมผู้สูงอายุ บางละมุง กรณีคนพิการ ใช้ศูนย์พัฒนาและฝึกอาชีพคนพิการ พระประแดง
ในส่วนการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ติดเชื้อโควิด19 รองโฆษกฯ กล่าวว่า พม.พร้อมให้การดูแลประสานกทม. และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อส่งต่อเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาล และเจ้าหน้าที่ พม. ทั่วประเทศ ไว้คอยช่วยกลุ่มเปราะบางลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน ซึ่งจะฉีดให้กับผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค หากเป็นผู้มีคุณสมบัติแต่ยังลงทะเบียนไม่ได้ สามารถโทรมาขอความช่วยเหลือที่ สายด่วน 1300 ซึ่งจะมีการประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การลงทะเบียนสำเร็จเรียบร้อย
รมช.สาธิต ยัน สธ.พร้อมกระจายวัคซีนฉีดกลุ่มเป้าหมาย 16 ล้าน มิ.ย.นี้ รับปัญหาหลักคนลงทะเบียนหมอพร้อมน้อย เพราะไม่เชื่อมั่น เร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจ
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ยืนยันกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกระจายวัคซีนตามแผนฉีด กลุ่มแรก 16 ล้านคน ที่จะเริ่มในเดือนมิถุนายน โดยประชาชนกลุ่มอายุแรก สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น หมอพร้อม ซึ่งขณะนี้ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องระบบ และจะพยายามประสานงานปรับปรุงให้การใช้งานดีขึ้น เพราะบางส่วนฐานข้อมูล ยังไม่ครบถ้วน แต่ปัญหาหลัก อยู่ที่ประชาชน ไม่กล้าฉีดวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้ามา
จึงต้องเร่งรณรงค์ ทำสื่อออกมา เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนทุกรูปแบบที่สามารถสื่อสารออกไปได้ รวมถึงเมื่อฉีดแล้ว เกิดผลข้างเคียง ทาง สปสช. ก็มีมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน ถือเป็นการสร้างความมั่นใจกับประชาชนมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ยอมรับปัญหาเตียง ICU อาจไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มขึ้น โดยได้มีการปรับให้โรงพยาบาลใหญ่ๆ เป็นหลักในการดูแลโรงพยาลขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่แต่ละโซน เพื่อหมุนเวียนเตียงให้มากขึ้น ทั้งนี้ หากผู้ติดเชื้อยังไม่มากเกินไปก็ยังพอหมุนเวียนได้ ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง เมื่อโรงพยาบาลสนามที่เมืองทอง สามารถเปิดให้บริการได้ ก็จะช่วยได้มาก ทั้งนี้ จะไม่มีการยุบศูนย์แรกรับและส่งต่อ ที่อาคารนิมิบุตร ซึ่งยังคงเปิดให้บริการ อำนวยความสะดวกต่อไป
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จากคลัสเตอร์ใหม่ในหลายเขต ก็มีกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพหลักในการรับมือ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะช่วยสนับสนุนทุกช่องทาง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news