รมว.สรวงศ์ เปิดตัวโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030”
รัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ เปิดตัวโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ยกระดับย่านเมืองเก่า สู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากล และเป็นพื้นที่แรกในประเทศไทยที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 พร้อมประกาศสนับสนุนภูเก็ตเป็นเจ้าภาพการประชุมท่องเที่ยวยั่งยืนโลกในปี 2569
24 พฤศจิกายน 2567, ภูเก็ต – รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ BDI ร่วมงานเปิดตัวโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ณ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต โดยได้รับเกียรติจากนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น และผู้นำองค์กรเอกชนเข้าร่วมงานดังกล่าว
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในพิธีเปิดว่า รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวคุณภาพและรับผิดชอบ ซึ่งเรียกกันว่า Responsible Tourism โดยให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้สำเร็จในปี พ.ศ.2593 ดังนั้น การนำสองยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลมาปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ภายใต้โครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเมืองท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ทั้งแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และหมุดหมายของการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และแนวทางที่ภูเก็ตได้ดำเนินการจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อทำให้ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต กลายเป็นต้นแบบของเมืองท่องเที่ยวที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ให้บรรลุผลได้ด้วยความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน
ด้านนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันย่านเมืองเก่าภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และการเติบโตของการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีการฟื้นตัวที่ดีมาก และดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่การเติบโตเศรษฐกิจของภูเก็ตจะกลับมาอีกครั้ง แต่สิ่งที่ทุกคนกำลังเผชิญหน้าคือความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงแนวโน้มแรงกดดันจากนานาประเทศที่เริ่มตั้งมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่จะมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ภูเก็ตจึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ชัดเจน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่กำลังตามมา
ขณะที่นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการออกแบบพื้นที่นำร่อง เพื่อนำมาศึกษาหาข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหาวิธีการในการลดปริมาณคาร์บอนให้ได้ 30% ใน 3 ปี ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ในการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีระบบอัจฉริยะในการนับจำนวนยานพาหนะรอบย่านเมืองเก่า เพื่อให้สามารถคำนวณปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะ รวมถึงดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพน้ำ จากสํานักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 และข้อมูลขยะจากเทศบาลนครภูเก็ต ทำให้ผู้บริหารเมืองจะมองเห็นปริมาณขยะ ปริมาณคน และปริมาณยานพาหนะแบบ Near Real-Time เพื่อการจัดการที่เหมาะสม รวมถึงมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนได้จัดซื้อเครื่องย่อยขยะอินทรีย์ และติดตั้งในเขตย่านเมืองเก่า ซึ่งจะทำให้ลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่นำไปฝังกลบลงได้อย่างน้อยวันละ 400 กิโลกรัม พร้อมประกาศสนับสนุนภูเก็ตเป็นเจ้าภาพการประชุมท่องเที่ยวยั่งยืนโลกในปี พ.ศ.2569
ด้าน รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าว ทาง BDI ได้ดำเนินการบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นปี 2567 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน 30% ภายในระยะเวลา 3 ปี ผ่านการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Big Data และ AI เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลภาพ บริเวณถนนคนเดินภูเก็ต หลาดใหญ่ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประกอบด้วย ปริมาณการใช้น้ำ การใช้ไฟฟ้า คุณภาพของน้ำ คุณภาพอากาศ และปริมาณขยะ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ประกอบการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดขึ้นในย่านเมืองเก่า และนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ประมาณการความหนาแน่นจำนวนคนและการใช้ยานพาหนะ ผ่านกล้อง CCTV เพื่อประมาณจำนวนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และยานพาหนะประเภทต่างๆ เพื่อประเมินปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์จากกิจกรรมการใช้ยานพาหนะร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คนในพื้นที่ และนำเสนอผลผ่านรูปแบบแดชบอร์ด เพื่อรายงานสถานการณ์สภาพแวดล้อม โดยรายงานความคืบหน้าของข้อมูลเป็นประจำทุกเดือน
สำหรับโครงการ “Phuket Old Town Carbon Neutrality 2030” ประกอบไปด้วย การบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นภายในชุมชนย่านภูเก็ตเมืองเก่าซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมือง โดยมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนได้สนับสนุนถุงแยกขยะจำนวน 4 สี คือ สีฟ้า สำหรับขยะที่ทางเทศบาลนครภูเก็ตจะดำเนินการกำจัดโดยเตาเผาขยะ สีเขียว สำหรับขยะอินทรีย์ ที่ทางเทศบาลนครภูเก็ตจะดำเนินการจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดด้วยเครื่องย่อยขยะอินทรีย์ สีเหลือง สำหรับขยะที่สามารถนำไปแปรรูปได้ และสีชมพู คือ ไขมันในถังดักไขมัน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่เพื่อการปรับลดให้ได้ตามเป้าหมายต่อไป โดยมีการวางแนวทางในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ.2573 เป็นพื้นที่แรกในประเทศไทย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews